ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) Google ประเทศไทย และศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร ภายใต้สมาคมธนาคารไทย (TB-CERT) ร่วมกันจัดแคมเปญ #31Days31Tips ที่จะนำเสนอคอนเทนต์ความรู้ด้านดิจิทัลและเคล็ดลับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของแต่ละองค์กรตลอดเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Awareness Month) เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และใช้เทคโนโลยีออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย
ปัจจุบัน กลโกงบนโลกออนไลน์ยังคงเป็นปัญหาที่คนไทยยังต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่ากลโกงของมิจฉาชีพมีหลากหลายรูปแบบ และที่พบบ่อย ได้แก่ หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หลอกให้กู้เงิน และหลอกให้ลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกลวงกว่า 9 พันล้านบาท ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (17 มีนาคม – 25 สิงหาคม 2566) โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยทำให้การเตือนภัยทางออนไลน์สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างขึ้นผ่านเนื้อหาข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์และเข้าใจง่าย อยู่ในรูปแบบที่สามารถแบ่งปันผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่หลายหลากได้ เพื่อให้ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่ไกลตัวประชาชนอีกต่อไป
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ในระยะเวลา 25 ปีที่ Google ได้ดำเนินธุรกิจทั่วโลก เราได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เราจึงได้จัดแคมเปญ #31Days31Tips เพื่อให้คนไทยมีเครื่องมือและข้อมูลในการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย รวมถึงสามารถแบ่งปันกับคนที่ห่วงใยได้ โดยแคมเปญนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของ Google ในการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนผ่านกลยุทธ์ใน 3 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Products) ที่มีความปลอดภัยโดยค่าเริ่มต้น พร้อมด้วยการรักษาความปลอดภัยในตัว เครื่องมือ (Tools) ที่ให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลส่วนตัวด้วยตนเอง เช่น การตรวจสอบความปลอดภัย (Security Checkup) ตรวจสอบความเป็นส่วนตัว (Privacy Checkup) รวมถึงเครื่องมือจัดการรหัสผ่าน (Password Manager) และโครงการ (Programs) ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และช่วยให้คนไทยท่องอินเทอร์เน็ตได้อย่างมั่นใจ โดยเป็นการต่อยอดจากกิจกรรม “Safer Songkran” ภายใต้โครงการ Safer with Google ที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการส่งมอบความห่วงใยและส่งเสริมความปลอดภัยทางดิจิทัลให้กับตัวเองและครอบครัว”
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการย้ำเตือนจุดยืนว่า ธปท. ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยทางการเงินให้ได้ครบวงจร โดยการสื่อสารให้ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ กับประชาชนในเชิงรุกและต่อเนื่อง จะช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทัน สามารถป้องกันตนเอง และมีภูมิคุ้มกันจากภัยออนไลน์ ซึ่งจะสอดรับกับชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ ธปท. ได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เช่น การขอให้ธนาคารยกเลิกแนบลิงก์ SMS และการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วย biometrics รวมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี”
ด้าน ดร.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการ TB-CERT กล่าวว่า “วิถีชีวิตปัจจุบันในยุคดิจิทัล มีการใช้เทคโนโลยีในทุกช่วงเวลาไม่ว่าจะเพื่อการสื่อสาร ความบันเทิง สุขภาพ รวมถึงการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งาน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีควบคู่กันคือ การยกระดับความตระหนักรู้ให้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคารภายใต้สมาคมธนาคารไทยได้ให้ความสำคัญ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดการภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งสื่อสารให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นประจำซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการหลักเพื่อสังคมไทย ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเสริมภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยมีความแข็งแกร่งต่อการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ และภัยไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเช่นกัน”
ทั้งนี้ แคมเปญ #31Days31Tips ตลอดเดือนตุลาคมนี้ จะนำเสนอเคล็ดลับและเครื่องมือที่เสริมความปลอดภัยออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ ธปท. Google และ TB-CERT โดยเนื้อหาจะประกอบด้วย 4 หมวดหมู่ ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยของบัญชีออนไลน์ การป้องกันตัวเองจากสแกม การตรวจเช็กข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทันกลลวงออนไลน์รอบด้าน