บราเดอร์ยังครองความเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์ของไทย ปีงบประมาณ 65 คาดการณ์อัตราการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์ไว้ที่ 13% และกลุ่ม non-print ที่ 16% พร้อมพัฒนากลยุทธ์เชิงรุกเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจรับโควิดคลี่คลาย
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยด้านการผลิตยังคงเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่บราเดอร์ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในปีนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า 2 ปีที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกธุรกิจต้องกำหนดมาตรการการทำงานแบบเว้นระยะห่าง ส่งผลให้สายงานการผลิตต้องควบคุมจำนวนพนักงานภายในโรงงานตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้มีปริมาณการผลิตที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ด้านวัตถุดิบที่มีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการกระจายสินค้าเพื่อเติมเต็มความต้องการตลาดที่ยังเห็นสัญญาณการยังเติบโตอยู่ด้วยเช่นกัน
“ทั้งนี้ ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องพิมพ์ในปี 2564 ตามรายงานของ จีเอฟเค (GFK) ระบุว่า บราเดอร์ยังครองความเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ผู้นำของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างอัตราการเติบโตให้เกิดขึ้นใน 3 กลุ่มเครื่องพิมพ์จนสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้สำเร็จท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์อยู่ที่ 37.1%, กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 64.3%, กลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 47.9% ทั้งยังครองอันดับ 2 ในกลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์อยู่ที่ 19.5% และจากปัจจัยด้านวัตถุดิบทำให้เครื่องพิม์อิงค์แทงค์ของบราเดอร์ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของตลาดอยู่ที่ 20%” นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กล่าวถึงศักยภาพของบราเดอร์ที่ยังคงครองความเป็นผู้นำ 1 ใน 3 ของตลาดเครื่องพิมพ์ไว้อย่างเหนียวแน่น
โดย 3 ปีต่อจากนี้ บราเดอร์ จะเดินหมากธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ CSB 2024 (Challenge Strategy Brother 2024) ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2565-2567 ผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย Re-energizing Business การปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนากลยุทธ์สู่การเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคต Sustainability การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคม (local community) และสิ่งแวดล้อม (environment) โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม (Good Governance) และ Driving DX หรือการขับเคลื่อนด้าน Digital Transformation (DX) โดยการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อให้พร้อมเติบโตคู่กับไปกับกระแสเทคโนโลยีที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบัน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“ความท้าทายของการทำธุรกิจในปี 2565 คือความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งสถานการณ์โรคระบาดกลายพันธุ์ เรื่องสงครามระหว่างประเทศ การถีบตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจทั่วโลก นอกจากนี้ การคาดการณ์ด้านดีมานด์ที่แท้จริงของตลาดก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของภาคธุรกิจเช่นกัน บราเดอร์เองต้องมีการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถส่งมอบสินค้าที่ตลาดต้องการได้ถูกช่วงเวลา เพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้าและสร้างการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ นำเสนอมุมมองเกี่ยวข้องกับความท้าทายที่บราเดอร์ต้องเผชิญในปี 2565
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) ได้นำ CSB 2024 มาใช้เป็นแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการตลาดเชิงรุกด้วยเช่นกัน โดย นายณเอก สงศิริ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงภาพรวมกลยุทธ์ว่า นอกจากจะมุ่งสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์แล้ว บริษัทฯ ยังได้พัฒนาแผนเพื่อสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจ non-print พร้อมกับพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการนำสินค้าที่มีมาสร้างเป็นโซลูชันเพื่อตอบความต้องการของตลาด พร้อมเพิ่มการรับรู้ในส่วนออฟไลน์ให้มากขึ้นทั่วประเทศด้วยการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นถึงศักยภาพสินค้าจริงด้วยตนเอง เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย และสานต่อการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้จากการใช้วัสดุสิ้นเปลืองแท้ (Genuine Consumable products) จากบราเดอร์ภายใต้ความร่วมมือกับช่องทางการขายที่จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์แท้ โดยลูกค้าสามารถดูรายชื่อร้านค้าดังกล่าวได้ผ่านทาง www.brother.co.th ทั้งนี้ การเติบโตของช่องทางขายแบบอีคอมเมิร์ซ (E-commerce Channel) ส่งผลอยากมากต่อประสิทธิภาพการขายในยุคปัจจุบัน บราเดอร์ จึงได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพในด้านดังกล่าวแก่ช่องทางการขายทั่วประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าส่งสินค้าใหม่ๆ ป้อนสู่ตลาดตลอดปี 2565
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บราเดอร์ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างการรับรู้ (brand awareness) ผ่านโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง โดยสามารถเพิ่มยอดผู้ติดตามและแฟนเพจได้อย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับแบรนด์ที่มีลักษณะโดยรวมที่คล้ายกัน และในปีนี้เราจะก้าวไปอีกขั้นภายใต้กลยุทธ์ Brand Preference เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าแบบครบทุกมิติ พร้อมส่งมอบความประทับใจจากประสบการณ์การใช้จริงจากลูกค้าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งยังคงเน้นหนักในการนำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียดังเช่นที่ผ่านมา และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อด้วยการจัดโปรโมชันพิเศษอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำสินค้าในเครือบราเดอร์ทั้งหมดมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า” นายณเอก สงศิริ กล่าวถึงแผนการพัฒนาจากการสร้างการรับรู้สู่การก้าวสู่แบรนด์ในใจของผู้บริโภคในไทย
ด้านแผนการสร้างการเติบโตในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น นายณเอก สงศิริ กล่าวเสริมว่า “กลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์เลเซอร์และสแกนเนอร์จะมุ่งเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจทที่ปัจจุบันได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากช่องทางโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ จะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์การทำงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานในสำนักงานและที่บ้าน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัล GTX ก็จะยังคงมุ่งทำตลาดสู่กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่ต้องการริเริ่มและต่อยอดธุรกิจที่ตนเองมีให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของเครื่องพิมพ์ฉลาก P-Touch จะมุ่งการนำเสนอแบบโซลูชันใหม่เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ส่วนจักรเย็บผ้าจะเน้นกลุ่มจักรปัก เพื่อรองรับการเพิ่มตัวของการเปิดสถานศึกษาและรองรับกระแสนิยมด้านงาน DIY และพร้อมรองรับการกลับมาเปิดให้บริการของสถานบันเทิงและการปรับปรุงระบบเสียงของพื้นที่ประชุมด้วยกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง BMB”
เมื่อองค์กรตั้งเป้าการเติบโตเชิงรุก แน่นอนว่างานบริการหลังการขายก็ต้องพร้อมรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ นางสาวรัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแผนดังกล่าวว่า ปัจจุบัน บราเดอร์ ได้พัฒนาช่องทางการติดต่อให้แก่ลูกค้ามากถึง 7 ช่องทาง โดยในปีที่ผ่านมา บราเดอร์ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านงานบริการด้วยการคว้ารางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคมาครองได้สำเร็จ พร้อมพัฒนาการให้บริการอีกขั้นด้วยการเปิดตัวแชทบอทน้องแคร์ที่ให้บริการ 24×7 ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ที่สำคัญยังได้พัฒนาแชทบอท ตัวที่ 2 ขึ้นในชื่อ Mr. Carer เพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพงานด้านการซ่อมของศูนย์บริการแต่งตั้ง เพื่อส่งมอบการบริการแก่ลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการสอบถามด้านเทคนิคการซ่อมต่างๆ มายัง Mr. Carer โดยได้เปิดตัวตั้งแต่มกราคม 2565 เป็นต้นมา เริ่มจากกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์ และวางแผนขยายสู่กลุ่มธุรกิจ non-print ภายในปีนี้ โดยล่าสุดโปรเจคการพัฒนาแชทบอททั้ง 2 ตัว เพื่อรองรับงานด้านการบริการ ได้คว้ารางวัลที่ 1 จากการประกวด Brother AP Global Charter 2021 ในหัวข้อ Transform Award ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำเทคโนโลยี ไปใช้ในการพัฒนาสร้างความพึงพอใจและการให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับบราเดอร์ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก
“การเดินหน้าขยายเครือข่ายการให้บริการ เพิ่มเติมการให้บริการที่ทันสถานการณ์ ทันสมัย เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่รวดเร็วตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และ สร้างความผูกพันที่มีต่อแบรนด์ คือเป้าหมายของส่วนงานบริการของบราเดอร์ในปีนี้” นางสาวรัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ กล่าว “นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดการพัฒนาแชทบอทน้องแคร์ ตั้งแต่เมษายน 2565 รองรับ 2 ภาษา สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และจะเพิ่มช่องทางการติดต่อแชทบอทน้องแคร์ผ่าน Line OA เพื่อเพิ่มช่องทางสำหรับลูกค้าในการติดต่อ เพียงลูกค้าเป็นเพื่อนกับ Line Official Brother Thailand ที่สำคัญเรายังให้ความสำคัญต่อ Customer engagement ผ่านการสร้างแคมเปญที่มุ่งเน้นไปเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้บริการตามความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ปัจจุบัน บราเดอร์ ได้ดำเนินการวัดระดับ Net Promoter Score (NPS) หรือความภักดีของลูกค้าต่อแบรนด์ เพื่อสำรวจความพึงพอใจทุกครั้งและทุกช่องทางที่ลูกค้าเข้าใช้บริการ โดยมีระดับความภักดีให้เลือก 0-10 เรียงลำดับจากน้อยไปมาก พบว่าผลลัพธ์ของคะแนน NPS อยู่ที่ระดับ 80-90 คะแนนในทุกช่องทาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าในประเทศไทยมีความเชื่อมั่นและภักดีต่อแบรนด์อยู่ในระดับสูงและนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงงานด้านการบริการอยู่เสมอ นอกจากนี้ ในส่วนงานด้านบริการเสริมทั้ง brother care pack ทั้ง 6 การบริการเสริม และ brother fast care service ที่แบ่งออกเป็น fast care express การบริการรับส่งสินค้าเพื่อซ่อม และ fast repair service การส่งซ่อมด่วนทั้งที่ศูนย์บริการของบราเดอร์และการสนับสนุนการซ่อมในส่วนเครื่องพิมพ์อิงค์เจทโดยศูนย์บริการแต่งตั้งอีกกว่า 20 ศูนย์ที่สามารถซ่อมด่วนภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งในอนาคตจะขยายโมเดลการให้บริการดังกล่าวไปยังกลุ่มสินค้าอื่นๆ ของบราเดอร์ด้วย และการทิ้งวัสดุการพิมพ์อย่างถูกวิธี brother earth care โดยรับบริการฝากทิ้งที่ศูนย์บริการบราเดอร์ และศูนย์บริการแต่งตั้งทั่วประเทศเพื่อทำลายอย่างถูกวิธีช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การขยายมาตราฐานการให้บริการแบบบราเดอร์ที่มีอยู่แล้วในทุกศูนย์ทั่วประเทศ เพิ่มเติมคือ การรับรองมาตราฐานการให้บริการโดยสถาบัน SQI ไปยังศูนย์บริการแต่งตั้งประมาณ 3-5 ที่ และสุดท้ายกับแผนการพัฒนาปรับศูนย์บริการให้กลายเป็น customer experience โดยลูกค้าสามารถเข้ามาชมเครื่องพร้อมทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ได้ก่อนตัดสินใจซื้อ และจะเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อสร้างความพึงพอใจอย่างไม่หยุดยั้งแก่ลูกค้าทุกกลุ่ม”
ด้านนายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินการด้านกิจกรรมส่งเสริมสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมว่า แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 อยู่เป็นระยะ แต่บราเดอร์ก็ไม่หยุดจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม เรายังเดินหน้าส่งเสริมด้านสังคมผ่านโครงการ Brother Beat Cancer Run ที่ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตที่ยากไร้ได้ถึง 590 คน นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 บราเดอร์ก็ได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนตลอดจนองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรนำเครื่องพิมพ์เข้าไปช่วยในโรงพยาบาลสนามและศูนย์ฉีดวัคซีน ตลอดจนร่วมมอบ ‘กล่องคลายกังวล’ ที่บรรจุยาและเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในการดูแลรักษาตนเองที่บ้านหรือระหว่างรอเตียง รวมถึงโครงการที่ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ สร้างสรรค์โครงการอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน และโครงการขวดพลาสติกพลิกชีวิต “อีโค่บริกส์” ที่เปลี่ยนขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติให้กลายเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้าง อันเป็นกิจกรรมหลักที่ทำให้บราเดอร์ได้รับเหรียญทองจากการประเมินสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) ระดับดีเยี่ยม ซึ่งทั้งหมดล้วนดำเนินการตามพันธสัญญาสากลที่ บราเดอร์ ยึดถือมาโดยตลอดคือความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนท้องถิ่นที่บราเดอร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อให้เกิดสังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืน
“บราเดอร์ได้ดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Sustainable Development Goals ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2563-2593 โดยมุ่งเน้นใน 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย เพิ่มการหมุนเวียนทรัพยากรสูงสุด ส่งเสริมสังคมที่ไร้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และผลลัพธ์สุทธิที่เป็นบวกในระบบนิเวศน์ ผ่านนโยบาย Environmental Vision 2050” นายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร กล่าวถึงแผนระยะยาวของบราเดอร์ “การดำเนินโครงการต่างๆ นับจากนี้ จะมุ่งที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ อาทิ โครงการปลูกป่าเราต้องติดตามให้เกิดผลสำเร็จ เราจะไม่ได้ให้ความสำคัญที่จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเท่านั้น แต่เราต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อจำนวนต้นไม้ที่รอดชีวิต เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของระบบนิเวศน์”
โดยในปีนี้ บราเดอร์ ยังคงเดินหน้าดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนต่อเนื่อง โดยได้พัฒนาศักยภาพในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเหล่าผู้ถือประโยชน์ร่วมแต่ละด้าน “ในส่วนของลูกค้า บราเดอร์ ได้พัฒนา customer data platform ขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอโซลูชันใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า พร้อมเพิ่มศักยภาพการให้บริการของศูนย์บริการต่างๆ สามารถรองรับความต้องการได้อย่างดียิ่งขึ้น ส่วนของพนักงาน บราเดอร์ ได้ปรับรูปแบบการมอบสวัสดิการให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงาน และให้ความสำคัญในการพัฒนาคนเพื่อทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่พันธมิตรทางธุรกิจนั้นบราเดอร์พร้อมเป็นที่ปรึกษา เพิ่มศักยภาพการขายและเติบโตควบคู่กันไป ด้านผู้ถือหุ้นนั้น จะต้องขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งยังสานต่อโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมที่ได้ทำมาให้เกิดขึ้นในระยะยาว” นายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร กล่าวเสริม
“ตลอดเวลาที่ผ่านมา บราเดอร์ ได้มีการแบ่งปันผลกำไรคืนกลับสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละโครงการที่ได้ดำเนินการ ก็ส่งเสียงสะท้อนกลับมาให้เห็นว่า การที่ธุรกิจจะมั่นคงแข็งแกร่งได้ในระยะยาว ต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน และจากความตั้งใจที่เราได้ส่งมอบออกไปนั้น ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้คนในสังคมได้สัมผัสถึงความตั้งใจดังกล่าว ก็ยิ่งเป็นพลังย้อนกลับมาให้บราเดอร์ได้ดำเนินการกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ต่อไป” นายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร กล่าวสรุป