ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวมากมายเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น Clubhouse ซึ่งมีที่มาจากก่อนหน้านั้น Elon Musk ซีอีโอของ Tesla และบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ได้เข้าใช้งานแอพดังกล่าว ทำให้ Clubhouse ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งวันนี้ทีมงาน @flashfly จะพาไปทำความรู้จักกับแอพ Clubhouse แบบหมดเปลือก
ต้นกำเนิดแอพ Clubhouse
แอพ Clubhouse เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ COVID-19 กำลังเริ่มระบาดในสหรัฐอเมริกา มีจุดเด่นที่การจำกัดการใช้งานที่ต้องได้รับคำเชิญเท่านั้น เหมือนกับการเป็นสมาชิกสโมสรในโลกจริง ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงแรกที่แอพเปิดตัว มีผู้ใช้งานในจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ร่วมทุน
หลังจากผ่านไป 2 เดือน Alpha Exploration Co. บริษัทที่อยู่เบื้องหลังแอพ Clubhouse ได้รับเงินลงทุนจ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก Andreessen Horowitz ซึ่งในเวลาไม่นานมูลค่าของบริษัท Alpha Exploration Co. ก็เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผู้ใช้งานราว 1,500 คนในเวลานั้น ก่อนจะค่อยๆ เปิดกว้างมากขึ้นในกลุ่มนักลงทุน
แอพ Clubhouse คืออะไร
Clubhouse เป็นแอพแชทรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้ใช้วิธีการพิมพ์ข้อความหรือส่งสติกเกอร์ แต่ใช่การพูดคุยด้วยเสียง ซึ่งบางคนมองว่า เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง Podcast กับ Twitter
ภายในแอพ Clubhouse จะไม่มีการส่งรูปภาพหรือวิดีโอ จะมีแต่รูปภาพโปรไฟล์ของผู้ใช้งาน และเสียงการสนทนาจะไม่ถูกบันทึกไว้
แอพ Clubhouse มีไว้ทำอะไร?
แอพ Clubhouse คล้ายกับการดักฟังโทรศัพท์ของคนอื่นอย่างถูกกฎหมาย แต่จะฟังได้ก็ต่อเมื่อได้รับเชิญจากเจ้าของห้องเท่านั้น โดยเจ้าของห้องอาจเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือ ภายในห้องอาจมีประเด็นการสนทนาที่น่าสนใจ
ใช้งานได้ทันทีหรือไม่?
หลังจากติดตั้งแอพ Clubhouse เรียบร้อยแล้ว ยังไม่สามารถเข้าใช้งานได้ทันที แต่จะต้องได้รับคำเชิญจากผู้ใช้อยู่ก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้งานใหม่จะสามารถส่งคำเชิญได้คนละ 2 ครั้ง และจะได้รับมากขึ้นเมื่อใช้แอพไปสักระยะ
ดาวน์โหลดได้ที่ไหน มีค่าใช้จ่ายหรือไม่?
แอพ Clubhouse สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี!! ผ่านทาง App Store ซึ่งหมายถึงรองรับเฉพาะ iPhone และ iPad เท่านั้น ส่วนอุปกรณ์ Android ยังไม่สนับสนุน อย่างน้อยก็ในตอนนี้ เนื่องจากผู้ใช้งานต้องการขยายกลุ่มผู้ใช้อย่างช้าๆ เพื่อรักษาความสมดุลของเซิร์ฟเวอร์
ไม่รองรับการใช้งานบนเว็บ
Clubhouse สามารถใช้งานได้ผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น ถึงแม้จะมีเว็บไซต์ joinclubhouse.com ก็ตาม แต่เว็บไซต์จะชี้ไปที่การดาวน์โหลดแอพ
การลงทะเบียนเข้าใช้งาน
ผู้ใช้งานต้องป้อนหมายเลขโทรศัพท์และชื่อจริง ก่อนลงทะเบียนเข้าใช้งานแอพ Clubhouse จากนั้นรอคำเชิญจากเพื่อนที่ทราบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้งาน
สำหรับใครที่ไม่ต้องการกรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกับบัญชี Twitter ได้ ซึ่งแอพ Clubhouse จะดึงรูปภาพโปรไฟล์มาจากบัญชี Twitter
แอพ Clubhouse มีอะไรน่าสนใจ
ภายในแอพ Clubhouse จะถูกแบ่งออกเป็นห้องย่อยหลายๆ ห้อง แต่ละห้องจะมีประเด็นหรือหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬา เทคโนโลยี การใช้ชีวิต สุขภาพ ความเชื่อ รวมไปถึงความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน
ห้องสนทนาจะอยู่ตลอดไปหรือไม่?
ห้องสนทนาจะถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน และปิดตัวลงหลังจากสนทนาสิ้นสุด โดยไม่มีการบันทึกเสียงที่สนทนาไว้ แต่ก็ไม่ได้มีวิธีการปิดกั้นการบันทึกเสียงรูปแบบอื่น มีผู้ใช้หลายคนที่สตรีมการสนทนาลง YouTube ทำให้การสนทนายังคงอยู่ตลอดไปในโลกอินเตอร์เน็ต
รองรับจำนวนผู้ใช้งานสูงสุดกี่คน?
ในหนึ่งห้องสนทนา รองรับผู้ใช้งานสูงสุดถึง 5,000 คนต่อห้อง
รูปแบบการสนทนา?
การสนทนาในแอพ Clubhouse มีความยืดหยุ่นพอสมควร บางห้องอาจถูกสร้างมาเพื่อคุยแบบตัวต่อตัวกับเพื่อน บางห้องอาจมีการสัมภาษณ์ในรูปแบบรายการทอล์กโชว์ และผู้เข้าร่วมสามารถกดปุ่มยกมือ กรณีมีคำถาม ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากผู้สร้างห้องก่อน
แอพ Clubhouse เหมาะกับใคร
ความจริงแล้วแอพถูกสร้างขึ้นมาในช่วง COVID-19 เริ่มระบาดในช่วงต้นปี 2020 เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารแทนการเดินทางไปพบหน้าโดยตรง แต่พอได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้ Clubhouse กลายเป็นแอพที่เหมาะสำหรับคนที่ชอบสนทนากับผู้อื่นที่มีความสนใจอย่างเดียวกัน หรือ เป็นนักฟังอย่างเดียวก็ได้ และบางคนก็เริ่มใช้เป็นช่องทางสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง
นอกจากนี้ ยังเคยมีคนดังในแวดวงความบันเทิงเข้ามาใช้งานด้วย Kevin Hart, Drake และ Tiffany Haddish โดยเฉพาะรายหลัง ถือเป็นคนแรกที่ทำลายสถิติมีผู้ติดตาม 1 ล้านคนในแอพ Clubhouse
ที่มา – PCMag