Apple เริ่มนำฟีเจอร์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาใช้กับ Apple Watch ครั้งแรกในปี 2561 แต่ยังจำกัดการใช้งานเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาของแต่ละประเทศ และในปัจจุบันสามารถใช้งานได้แล้วมากกว่า 60 ประเทศหรือภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย
ECG คืออะไร
ECG มาจากคำว่า Electrocardiogram หมายถึงการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของหัวใจ ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจสอบ แต่ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคทั่วไป สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองผ่านอุปกรณ์ด้านสุขภาพที่รองรับ อย่างเช่น Apple Watch
Apple Watch สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยแอพพลิเคชั่น ECG และสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการเต้นของหัวใจของผู้ใช้งาน อยู่ในภาวะปกติ หรือ มีสัญญาณผิดปกติเกี่ยวกับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AFib) หรือไม่ ซึ่งเป็นจังหวะการเต้นไม่สม่ำเสมอที่พบได้บ่อยที่สุด และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพได้
รองรับรุ่นใดบ้าง
ฟีเจอร์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจรองรับ Apple Watch ที่มีรายชื่อต่อไปนี้
- Apple Watch Series 6
- Apple Watch Series 5
- Apple Watch Series 4
นอกจากนี้ Apple Watch รุ่นใหม่ๆ ที่จะออกมาในอนาคต ก็ควรจะได้รับฟีเจอร์ ECG ด้วยเช่นกัน
จะใช้งาน ECG ได้อย่างไร
ฟีเจอร์ ECG สำหรับ Apple Watch ในประเทศไทย สามารถใช้งานได้หลังจากอัพเดท iPhone เป็นเวอร์ชั่น iOS 14.4 และอัพเดท Apple Watch เป็นเวอร์ชั่น watchOS 7.3
ฟีเจอร์ ECG ได้รับการออกแบบมาสำหรับการใช้งานขณะมีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือ เต้นข้ามจังหวะ ดังนั้น หากรู้สึกว่าร่างกายปกติดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องวัด ECG บ่อยครั้งเกินไป เนื่องจาก Apple Watch มีฟีเจอร์แจ้งเตือนจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมออยู่แล้ว
ฟีเจอร์แจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ ช่วยให้ Apple Watch สามารถตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ใช้งานอยู่ในเบื้องหลังเป็นระยะๆ เพื่อหาสัญญาณของภาวะ AFib และแจ้งเตือนผู้สวมใส่ Apple Watch หากตรวจพบจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ โดยที่ Apple Watch จะใช้เซ็นเซอร์วัดหัวใจแบบออปติคอลที่มีอยู่ใน Apple Watch เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้หากพบจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอจากการตรวจสอบจังหวะการเต้น 5 ครั้งภายในระยะเวลา 65 นาทีเป็นอย่างต่ำ
ทั้งนี้ แอพ ECG ใน Apple Watch รองรับผู้ใช้งานที่มีอายุ 22 ปีขึ้นไป และใช้ได้กับ Apple Watch Series 4 ขึ้นไป ขณะที่ฟีเจอร์แจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ รองรับการใช้งานกับ Apple Watch Series 3 ขึ้นไป
วิธีติดตั้งแอพ ECG บน Apple Watch
หลังจากอัพเดท iPhone และ Apple Watch ให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดแล้ว ให้เข้าไปที่แอพ Health บน iPhone จะพบกับปุ่ม Set Up ECG App ให้แตะ แล้วทำตามขั้นตอนต่างๆ บนหน้าจอ ถ้าหากเข้ามาในแอพ Health แล้วไม่พบกับการตั้งค่าแอพ ECG ให้แตะแท็บ Browse ตามด้วย Heart > Electrocardiograms (ECG) > Set Up ECG App
จากนั้นให้เปิดแอพ ECG บน Apple Watch เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ทันที แต่ถ้าไม่พบแอพ ECG บน Apple Watch ให้เปิดแอพ Watch ใน iPhone แล้วแตะ Heart จากนั้นแตะติดตั้งในส่วน ECG
วิธีวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย Apple Watch
การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย Apple Watch ควรวัดเมื่อรู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือ เต้นข้ามจังหวะ หรือ ได้รับการแจ้งเตือนจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าหากมีความกังวล ผู้ใช้งานสามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ตลอดเวลา โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- สวมใส่ Apple Watch ให้พอดีกับข้อมือ
- เปิดแอพ ECG ใน Apple Watch
- วางแขนที่สวม Apple Watch ไว้บนโต๊ะ และไม่ควรเคลื่อนไหว
- ใช้อีกมือหนึ่งที่ไม่ได้สวม Apple Watch นำปลายนิ้วมาแตะบน Digital Crown โดยไม่ต้องกดลงไป
- อยู่นิ่งเป็นเวลา 30 วินาที (ดูเวลานับถอยหลังบนหน้าจอ Apple Watch)
- ปล่อยนิ้วมือจาก Digital Crown เพื่อหน้าจอ Apple Watch รายงานผลจากการวัดวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ผลที่ได้จากการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
หลังจากวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเรียบร้อยแล้ว Apple Watch จะรายงานผลให้ทราบ โดยจะรายงานผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกันตาม 4 รายการต่อไปนี้…
จังหวะไซนัส (Sinus rhythm)
ถ้าผู้ใช้ได้ได้ผลลัพธ์เป็นจังหวะไซนัส หมายความว่า หัวใจเต้นในรูปแบบที่สม่ำเสมอระหว่าง 50 ถึง 100 BPM โดยที่ผลลัพธ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อหัวใจห้องบนและห้องล่างเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน หรือ หมายความว่าหัวใจเต้นปกติดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสุขภาพดี ถ้าหากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการใดๆ ควรไปปรึกษาแพทย์
ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation)
ผลลัพธ์ AFib (Atrial fibrillation) หมายความว่าผู้ใช้งานมีรูปแบบของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน
อัตราการเต้นของหัวใจต่ำหรือสูง
อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 50 BPM หรือสูงกว่า 120 – 150 BPM
อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติ อาจมีสาเหตุจากได้รับยาบางประเภท หรือ อาจเกิดจากการไม่ได้ทำการวัดสัญญาณไฟฟ้ากับหัวใจอย่างถูกต้อง รวมถึงการฝึกซ้อมเพื่อเป็นนักกีฬาขั้นสูงอาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจต่ำได้เช่นกัน
อัตราการเต้นของหัวใจสูงอาจเป็นผลมาจากการออกกำลังกาย ความเครียด ความประหม่า แอลกอฮอล์ ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อ AFib หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอื่นๆ
ไม่สามารถสรุปผลได้
หากได้ผลลัพธ์แบบไม่สามารถสรุปผลได้ หมายความว่า ไม่สามารถจัดประเภทข้อมูลที่บันทึกได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการสวมใส่ Apple Watch หลวมเกินไป หรือ วางแขนไม่นิ่งในระหว่างการวัดค่า และยังมีอีกหลายสาเหตุ ดังนั้น ก่อนจะทำการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีกครั้ง ควรตรวจสอบ Apple Watch ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ รวมไปถึงตรวจสอบข้อมือให้มั่นใจว่าไม่มีน้ำหรือเหงื่อ และควรอยู่ให้ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบอยู่กับแหล่งจ่ายไฟ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนทางไฟฟ้า
ผู้ใช้งาน Apple Watch Series 4, Series 5, Series 6 สามารถตรวจสอบค่า ECG ย้อนหลังได้จากแอพ Health ใน iPhone โดยไปที่แท็บ Browse แตะ Heart ตามด้วย Electrocardiograms (ECG) แล้วแตะแผนภูมิเพื่อดูผลลัพธ์ ECG นอกจากนี้ ยังสามารถส่งออกไฟล์ PDF เพื่อส่งให้แพทย์วินิจฉัยได้อีกด้วย
วิธีการทำงานของแอพ ECG
ตามปกติแล้ว ECG ที่ใช้ในห้องตรวจของแพทย์จะเป็นแบบมาตรฐาน 12 จุด ซึ่ง ECG แบบ 12 จุด จะบันทึกสัญญาณไฟฟ้าจากมุมต่างๆ ในหัวใจ เพื่อสร้างรูปคลื่นที่ต่างกัน 12 แบบ สำหรับแอพ ECG ใน Apple Watch จะสร้าง ECG ที่คล้ายคลึงกับการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบจุดเดียว (หรือ Lead I) โดยจะวัดรูปคลื่นที่คล้ายกับรูปคลื่น 1 ใน 12 แบบดังกล่าว
ECG แบบจุดเดียวสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ รวมถึงสามารถจัดประเภทภาวะ AFib ได้ จากการศึกษาเปรียบเทียบการวัดด้วยแอพ ECG ใน Apple Watch กับ ECG แบบ 12 จุดในเวลาเดียวกัน พบว่ามีความสอดคล้องกันระหว่างการจัดประเภทจังหวะไซนัส หรือภาวะ AFib ของแอพ ECG เมื่อเปรียบเทียบกับ ECG มาตรฐานแบบ 12 จุด
ความสามารถของแอพ ECG ในการจัดประเภทค่า ECG เป็นภาวะ AFib และจังหวะไซนัส อย่างแม่นยำได้รับการทดสอบในการทดลองเชิงคลินิกกับอาสาสมัครประมาณ 600 คน และพบว่ามีความจำเพาะในการจัดประเภทจังหวะไซนัสอยู่ที่ 99.6% และมีความไวในการจัดประเภทภาวะ AFib อยู่ที่ 98.3% สำหรับผลลัพธ์ที่สามารถจัดประเภทได้
ผลลัพธ์ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องเชิงคลินิกนี้สะท้อนถึงการใช้งานในสภาพแวดล้อมแบบควบคุม การใช้งานแอพ ECG จริงอาจทำให้การวัดหลายครั้งได้รับการพิจารณาว่าไม่สามารถสรุปผลได้หรือไม่สามารถจัดประเภทได้
ข้อจำกัดของแอพ ECG
- แอพ ECG ไม่สามารถตรวจจับหัวใจวายได้ หากผู้ใช้งานเคยมีอาการเจ็บ บีบ แน่นหน้าอก หรืออาการที่คิดว่าเป็นหัวใจวาย โปรดติดต่อแพทย์หรือบริการฉุกเฉินทันที
- แอพ ECG ไม่สามารถตรวจจับภาวะเลือดแข็งตัวเป็นลิ่มหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
- แอพ ECG ไม่สามารถตรวจจับภาวะเกี่ยวกับหัวใจอื่นๆ ได้ ซึ่งรวมถึงความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว คอเลสเตอรอลสูง หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรูปแบบอื่นๆ
ถึงแม้ผลลัพธ์จากการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยแอพ ECG ออกมาเป็นจังหวะไซนัส (Sinus rhythm) หรือหัวใจเต้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเข้ารับการรักษาโดยด่วน