Huawei Developer Conference (HDC) ประจำปี 2019 เปิดแล้วอย่างเป็นทางการ ณ สำนักงาน Songshan Lake เมืองตงกวน ระหว่างวันที่ 9 – 11 สิงหาคม โดยตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของหัวเว่ยกว่า 600 คนจะพบกับนักพัฒนาและพันธมิตรกว่า 6,000 คนจากทั่วโลกเพื่อหารือด้านการสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงระบบนิเวศใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตามแนวคิด“Rethink Possibilities” ทั้งนี้ งาน Huawei Developer Conference จัดขึ้นทุกปี เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการค้นหาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาระบบนิเวศใหม่ๆ สำหรับในอนาคต ซึ่งจะขับเคลื่อนโดยสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค
ในปี 2010 หัวเว่ยถือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดสมาร์ทโฟน และมียอดส่งมอบสมาร์ทโฟนเพียง 3 ล้านเครื่องเท่านั้น แต่อีกเพียง 8 ปีต่อมา ยอดส่งมอบสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยสูงขึ้นจากปี 2010 ถึง 68 เท่า และหัวเว่ยจำหน่ายสมาร์ทโฟนไปแล้ว 118 ล้านเครื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24 และมีส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 17.6 จากการสำรวจของ IDC การเติบโตของหัวเว่ยยังปรากฎอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ Wearable
ปัจจุบัน หัวเว่ยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน 170 ประเทศ และมีผู้ใช้งานกว่า 530 ล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเปิด HiAI ของหัวเว่ย ยังมีพันธมิตรกว่า 2,500 ราย ใน 140 ประเทศ รวมถึงอุปกรณ์ IoT กว่า 140ล้านชิ้นทั่วโลกที่รองรับมาตรฐาน HiLink ของหัวเว่ยอีกด้วย ซึ่งหมายความว่าหัวเว่ยกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมและสามารถสร้างระบบนิเวศอัจฉริยะได้อย่างครบวงจร
ล่าสุด หัวเว่ยนำเสนอระบบปฏิบัติการใหม่ “HarmonyOS” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านซอฟต์แวร์ โดยเป็นระบบปฏิบัติการแบบกระจาย (Distributed Operating System) และใช้ Microkernel จัดการทรัพยากรระบบ เพื่อการทำงานในทุกสภาพการใช้งานและทุกอุปกรณ์ ระบบปฏิบัติการอันก้าวล้ำนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันแนวคิดการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์เป็นหนึ่งเดียวผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Everything) ให้เป็นจริง นอกจากนี้ “HarmonyOS” ยังเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับนักพัฒนา ที่ต้องการพัฒนาแนวคิดหรือแอพพลิเคชั่นที่สามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์ โดยลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการพัฒนาลง อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การใช้งานแบบเดียวกันบนทุกอุปกรณ์อีกด้วย
ริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าวในโอกาสนี้ว่า “HarmonyOS จะเชื่อมโยงสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน และจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ที่อาจมีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ เพราะระบบปฏิบัตินี้พัฒนาขึ้นเพื่อโลกปัจจุบันและอนาคต เราต้องการให้ระบบปฏิบัตินี้เป็นรากฐานของเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต หัวเว่ยมุ่งมั่นยกระดับเทคโนโลยีในระดับรากฐาน ซึ่งรวมถึงชิปและระบบปฏิบัติการ พร้อมกันนี้ เรายังมีความตั้งใจจะแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ที่ผู้บริโภคพบเจออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งผู้บริโภคและนักพัฒนาของเราได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง”
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด และในอนาคตหัวเว่ยจะปรับให้แพลตฟอร์ม Huawei Mobile Services (HMS) เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างสำหรับนักพัฒนาทั่วโลก เพื่อให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนา HMS ได้
ก้าวสู่อนาคตกับ HarmonyOS
ภายในงาน Huawei Developer Conference (HDC) ประจำปี 2019 นี้ หัวเว่ยได้นำเสนอระบบปฏิบัติการถึง 2 ระบบ โดยหนึ่งในนั้นคือ ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นใหม่ล่าสุดอย่าง HarmonyOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการแบบ Distributed OS ที่มีพื้นฐานการจัดการระบบด้วย Microkernel เพื่อให้รองรับกับทุกอุปกรณ์ โดยในเบื้องต้น หัวเว่ยจะเริ่มใช้ระบบปฏิบัติการนี้กับอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น HUAWEI Vision, ระบบอินโฟเทนเมนท์ในรถยนต์ (Vehicle Terminals) และ Wearables ก่อน และจะเพิ่มประเภทอุปกรณ์อัจฉริยะที่จะรองรับในอนาคต นอกจากนี้ยังมีอีกระบบหนึ่งที่หัวเว่ยนำเสนอในงานนี้คือ EMUI 10 ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของหัวเว่ยในปัจจุบัน
หัวเว่ยพัฒนา HarmonyOS ให้รองรับการทำงานในทุกอุปกรณ์ และสามารถเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งตามแนวคิด Internet of Everything (IoE) โดยใช้คุณสมบัติทางซอฟต์แวร์ที่ต่างออกไป เช่น Distributed Software Buses และคุณสมบัติทางฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานข้ามอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะสลับไปใช้งานอุปกรณ์ใดก็ตาม นอกจากนี้ หัวเว่ยยังใช้เครื่องมือ Integrated Development Tool (IDE) เพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับกับอุปกรณ์ที่หลากหลายได้ โดยใช้เวลาในกระบวนการพัฒนาน้อยลง กล่าวคือ นักพัฒนาจะสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพียงครั้งเดียวให้สามารถทำงานได้ในทุกอุปกรณ์ ช่วยให้การจัดการทรัพยากรระบบเป็นไปได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านี้ หัวเว่ยยังใช้กระบวนการ Deterministic Latency Engine และ IPC ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดปัญหาการประมวลผลช้า นอกจากนี้สถาปัตยกรรมแบบMicrokernel และระบบการยืนยันแบบ Formal Method จะช่วยให้ HarmonyOS มีความปลอดภัยและมีความเสถียรมากขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของ EMUI 10 จะเป็นส่วนประสานผู้ใช้แบบ Distributed OS จึงช่วยให้นักพัฒนาสามารถจำลองรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันได้ และจำลองการทำงานต่อเนื่องระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ได้ เสมือนว่านักพัฒนามี Virtual Machine ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังไม่จำเป็นต้องกังวลถึงข้อแตกต่างของฮาร์ดแวร์ เพราะนักพัฒนาสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพียงครั้งเดียวแต่รองรับการทำงานกับทุกอุปกรณ์ได้ ระบบ Deterministic Latency Engine ยังช่วยลดปัญหาระบบค้างจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสมในทุกระดับของซอฟต์แวร์ได้ ช่วยให้ EMUI 10 มีความเสถียรตลอดเวลา นักออกแบบยังพัฒนา UX ของระบบปฏิบัติการใหม่นี้ให้สวยงาม และสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้นด้วย โดยผู้ใช้ HUAWEI P30 Pro ทั่วโลกจะได้รับอัพเดต EMUI 10 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ระบบนิเวศใหม่ จากการเปิดแพลตฟอร์ม HMS
HMS เป็นแพลตฟอร์มซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของหัวเว่ย โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ลดขั้นตอนการพัฒนา และนำเสนอแอพพลิเคชั่นของตนสู่ผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้อุปกรณ์หลากหลายประเภทได้ ภายในงาน HDC ประจำปีนี้ หัวเว่ยจะเปิดส่วนหลักของแพลตฟอร์ม HMS ทั้งสิ้น 14 ส่วน บริการ 51 ประเภท และ APIs885 ชุดให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ เพื่อยกระดับแพลตฟอร์มไปอีกขั้น เติมเต็มการใช้งานกับอุปกรณ์ทุกรูปแบบ ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่น 43,000 ตัวที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม HMS
และในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ หัวเว่ยจะนำเสนอมาตรฐาน Fast Applications ที่ใช้งานอยู่แล้วในสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ตลาดโลก เพื่อการพัฒนาคุณสมบัติของการใช้งานแอพพลิเคชั่นอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องติดตั้งลงในอุปกรณ์ ปัจจุบัน หัวเว่ยมีบริการมากกว่า 5,000 บริการใน HUAWEI Ability Gallery สำหรับนักพัฒนาชาวจีน โดยแพลตฟอร์ม HUAWEI Ability Galleryจะเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน เพื่อให้หัวเว่ยนำเสนอสิ่งที่ดีสู่ผู้บริโภคได้เร็วและดียิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ หัวเว่ยยังเปิดตัวระบบ App Gallery Connect สู่นักพัฒนาทั่วโลก เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่นักพัฒนาในกระบวนการพัฒนาและนำเสนอแอพพลิเคชั่น ทั้งการสร้างสรรค์ พัฒนา นำเสนอ ดูแล และการวิเคราะห์ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเพิ่มเงินสนับสนุนจาก 1 พันล้านหยวนเป็น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่โครงการ “Shining Star” และเปิดโอกาสให้นักพัฒนานอกสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เป็นครั้งแรก ในการนี้หัวเว่ยพร้อมจะทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับแนวหน้าในแวดวงธุรกิจเดียวกัน เพื่อร่วมกันตั้งกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของนักพัฒนาทั่วโลก
เครื่องมือใหม่สำหรับนักพัฒนา
หัวเว่ยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักพัฒนาด้วยเครื่องมือและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำเสนอผลงงานได้ในทุกอุปกรณ์ของหัวเว่ย พร้อมนำเสนอแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการทำงานร่วมกับชิป Kirin โดยเฉพาะการพัฒนาคุณสมบัติด้านมัลติมีเดีย ที่ช่วยลดขั้นตอนการพัฒนา โดยอาศัยการสังเกตจดจำการใช้งานของผู้ใช้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยกระดับแนวคิดปัญญาประดิษฐ์ให้ก้าวไปอีกขั้น
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังพร้อมจะพัฒนาคุณสมบัติใหม่ๆ ให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากสมาร์ทโฟน และเติมเต็มประสบการณ์การใช้งานในทุกช่วงเวลา พร้อมนำเสนอHiLink, LiteOS และ Chip Suite ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับอุปกรณ์และระบบคลาวด์ ระบบปฏิบัติการ และชิปเซ็ตตามลำดับ แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้จะช่วยขจัดอุปสรรคของการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ และช่วยให้กระบวนการพัฒนานั้นง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- HiLink เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับการค้นหาและเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเชื่อมต่อซ้ำ ซึ่งสามารถรองรับอุปกรณ์ที่หลากหลายและการควบคุมหลายรูปแบบ เชื่อมทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการทำงานที่ง่ายกว่าที่เคย
- LiteOS เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ IoT และแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยหัวเว่ยใช้เฟรมเวิร์คการพัฒนาและการสร้างโปรแกม Maple JS ที่มีขีดความสามาถด้านการประมวลผลเทียบเท่าการพัฒนาระบบโดยใช้ภาษา C เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนา
การผสานชิป HiSilicon, LiteOS, Gigahome และ Honghu ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้เข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ได้โดยสะดวกมากขึ้น
ในงาน HDC ปีนี้ หัวเว่ยยังนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อีกมาก เช่น อัลกอริธึ่ม Space Computing และเทคโนโลยีการระบุปัญญาประดิษฐ์ (AI Identification) สำหรับบริการไซเบอร์เวิร์ส (Cyberverse)
ที่ผสานโลกจริงและโลก VR เข้าด้วยกัน เพื่อประสบการณ์ที่เหนือกว่า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยี 5G แบบช่วงคลื่น mmWave, ระบบควบคุมคลื่น mmWave โดยใช้ท่าทาง และระบบตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจที่อยู่ในสมาร์ทโฟนพับได้HUAWEI Mate X นอกจากนี้ หัวเว่ยยังใช้การรวบรวมข้อมูลจากมวลชนเพื่อเก็บข้อมูลแผนที่ ช่วยให้การระบุพิกัดและการนำทางในอาคารแม่นยำมากขึ้น
ริชาร์ด หยู กล่าวเพิ่มเติมว่า “หัวเว่ยพร้อมจะสร้างระบบนิเวศและดึงดูดนักพัฒนารายใหม่ๆ สิ่งที่เราประกาศและสาธิตในงานHuawei Developer Conference ประจำปีนี้ จะเป็นรากฐานของการพัฒนาแนวคิดการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกันให้เป็นจริงได้ใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า”