นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำต้นแบบห้องเรียนที่ใช้เทคโนโลยีของอินเทล บนแทบเล็ต เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 4 โดยเลือกโรงเรียนอนุบาลสามเสน เป็นโรงเรียนนำร่อง ระยะเวลาทดสอบเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้ เป็นการปรับปรุงจากโครงการ “คลาสเมท พีซี” เดิม ที่พัฒนาต้นแบบพีซี เพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนทั่วโลก แต่ครั้งนี้จะใช้แทบเล็ต เป็นเครื่องมือใหม่ในการเรียนรู้ และเป็นตลาดใหม่ที่อินเทลเริ่มพัฒนา โดยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “อินเทล เลิร์นนิ่ง ซีรีส์” รวมตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เป็นอีโคซิสเต็มส์ที่ใช้งานได้สมบูรณ์
สเปคใกล้เคียงแทบเล็ตภาครัฐ
สำหรับคุณสมบัติของ เครื่องที่ทดสอบครั้งนี้ใกล้เคียงกับคุณสมบัติที่กระทรวงศึกษาใช้ในโครงการ แทบเล็ต ป. 1 คือ ขนาด 7 นิ้ว ใช้ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ 3.2 เชื่อมต่อไวไฟได้ พร้อมกล้องหน้า-หลัง ใช้แบตเตอรี่ได้นาน 4-5 ชั่วโมง และใช้เทคโนโลยีประมวลผลด้วยโปรเซสเซอร์ตระกูลอะตอม
ผู้บริหารอินเทล ยังไม่ประเมินราคาเครื่องดังกล่าว เพราะต้นแบบดีไซน์ ที่บริษัทส่งให้ผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยี แต่จะให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นผู้ประเมินผลและส่งให้กับกระทรวงศึกษาใช้ประกอบการทำโครงการแทบเล็ต ป. 1 ของรัฐบาล
“รัฐบาลจัดซื้อแบบจีทูจี เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรไม่ได้เลย เรามีบทบาทเป็นเพียงแอดไวเซอร์ ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ตอนที่ยังเป็นคลาสเมท พีซี มีบริษัทที่นำต้นแบบเราไปผลิตแล้วขายให้กับรัฐบาลแล้วหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินา 2 ล้านเครื่อง โปรตุเกส 1.4 ล้านเครื่อง และมาเลเซียอีกราว 1 แสนเครื่อง ส่วนแทบเล็ตที่นำมาทดลองครั้งนี้ใช้บริษัทในจีนเป็นผู้ผลิต”
เสนออบรมครูโปรเจคแทบเล็ตรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะนำเสนอโครงการ “อินเทล ทีช” (Intel Teach) ที่ร่วมมือกับกระทรวงศึกษามาก่อนหน้านี้ เพื่ออบรมครูให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน มาปรับใช้กับโครงการแทบเล็ตในครั้งนี้ เนื่องจากพบว่าครูส่วนใหญ่ไม่เชี่ยวชาญไอที ไม่มีความรู้เกี่ยวกับแทบเล็ตมาก่อน ปัจจุบันมีครูที่อยู่ในโครงการแล้ว 1.4 แสนคน จากจำนวนครูทั่วประเทศกว่า 5 แสนคน
นายเบิร์น นอร์ดโฮเซ็น ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชั่นเพื่อการศึกษา โครงการอินเทล World Ahead กล่าวว่า หลายๆ โครงการที่อินเทล เคยทำในต่างประเทศพบว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการเรียนการสอนจะทำให้เด็ก เรียนรู้ได้ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาความสามารถการเรียนรู้ของเด็กที่ช้าเร็วต่างกันได้ เพราะเด็กสามารถกดเรียนรู้ซ้ำได้จากเดิมที่ครูอธิบายบนกระดานครั้งเดียว แล้วเด็กต้องยกมือถาม
เขาระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานของห้องเรียนแทบเล็ตที่ควรมี คือ ไวไฟ หรืออินเทอร์เน็ตภายในของโรงเรียน และเซิร์ฟเวอร์ สำหรับเก็บคอนเทนท์ ส่วนขนาดของห้องเรียนก็แล้วแต่การบริหารจัดการของครู เพราะเทคโนโลยีสามารถปรับเปลี่ยนได้
“ข้อเสนอสำหรับรัฐบาล คือ การพัฒนาครูยังเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าดีไวซ์ และอีโคซิสเต็มส์ทั้งหมดยังต้องมีองค์ประกอบ เช่น คอนเทนท์ หรือระบบการจัดการเครือข่าย ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับตัวเครื่องเพียงอย่างเดียว”
ชี้แทบเล็ตทำให้เด็กเรียนสนุก
นางณัฏฐนันท์ ปั้นลายนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสามเสนฯ เผยว่า หลังจากทดลองใช้กับเด็ก ป. 1 และ ป. 4 เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าแทบเล็ต ทำให้เด็กรู้สึกมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น สามารถทำให้การเรียนรู้นามธรรมเป็นรูปธรรมได้มากเท่าไร จะทำให้เด็กเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการใช้แทบเล็ตประกอบกับการสอน 3 วิชาสาระ คือ อังกฤษ ภาษาไทย และคณิตศาสตร์ โดยมีคอนเทนท์หลักจาก สพฐ.ใส่มาให้ อย่างไรก็ตาม แทบเล็ตไม่สามารถแทนการสอนของครูได้ และยังไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากกว่าครู แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สอนง่ายขึ้นเท่านั้น
“คนที่ห่วงว่าเด็กจะหมกมุ่นกับแทบเล็ตจนไม่เรียน ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะมีระบบที่ครูควบคุมหน้าจอของเด็กได้ และครูจะต้องเป็นนักจัดการที่ดี ออกแบบการสอนว่าจะใช้แทบเล็ตตอนไหน ไม่ได้ใช้ตลอดชั่วโมง” นางณัฏฐนันท์กล่าว
ผอ.สามเสนย้ำใช้แทบเล็ต “ครู” ต้องพร้อม
นางณัฏฐนันท์ ปั้นลายนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสามเสน กล่าวว่า การทดลองใช้แทบเล็ตโรงเรียนเรามีความตื้นตัวมาก โดยจะเลือกชั้น ป. 1 ที่มีความพร้อม และสนใจอยากเรียนรู้ จากนั้นให้อินเทลมา อบรมครูทุกคน ทุกชั้นเรียน ใช้แทบเล็ต เพื่อปูพื้นฐานให้ครูเข้าใจ และเห็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้การเรียนการสอน หากครูไม่เข้าใจและได้รู้จัดการบริหารจัดการการเรียนการสอนที่จะใช้กับเด็ก นักเรียน เด็กก็จะไม่ได้รับประโยชน์
ขณะเดียวกัน ได้ใช้หลักสูตรแกนกลางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาใช้ร่วมกับสิ่งที่ครูได้คิดรูปแบบเนื้อหาขึ้นมาใหม่ โดยให้อินเทล เป็นผู้ช่วยการผลิตขึ้นมาให้ เช่น ครูอาจจะคิดข้อสอบออกมาใหม่เป็นข้อๆ ทางอินเทล ก็ช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ให้นำมาอยู่ในแทบเล็ต เด็กสามารถทำข้อสอบผ่านแทบเล็ตได้ ส่วนครูก็สามารถดูได้ว่าเด็กทำข้อสอบข้อไหนทำได้มากที่สุด น้อยที่สุด สามารถประเมินการเรียนการสอนได้ทันที
“เรามองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกัน ครูก็ต้องเป็นผู้จัดการที่ดีด้วย ต้องมีวิธีการ มีกระบวนการเรียนการสอนนักเรียนชั้น ป. 1 ต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ครูต้องศึกษาให้ดี ทำอย่างไรจะให้แทบเล็ตมาเป็นเครื่องมือให้ครูสอนได้ง่ายขึ้น เด็กสามารถเรียนรู้จากแทบเล็ตได้เร็วขึ้น หากครูสามารถทำเนื้อหาที่เป็นนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมได้มากเท่าไร เด็กก็จะเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น” นางณัฏฐนันท์กล่าว
เด็ก ป. 1 ชอบแทบเล็ตทำให้เรียนสนุก
ด.ญ.มาริษา ซาน อายุ 7 ขวบนักเรียนชั้น ป. 1/4 กล่าวว่า รู้สึกชอบแทบเล็ตเพราะใช้แล้วรู้สึกสนุก ทำให้อยากเรียนรู้ในวิชาต่างๆ มากขึ้น และทำให้เรามีความรู้เพิ่มมากขึ้น จากการใช้งาน ถ้าไม่เข้าใจก็กดดูซ้ำอีกครั้ง ถามว่าอยากใช้ทำอะไรอีกนอกจากใช้เรียนใน 3 วิชาหลัก ด.ญ.มาริษา บอกว่าอยากใช้เล่นเกม แต่ไม่สามารถเล่นได้ ขณะที่ ด.ญ.นลินทิพย์ เครือไชย กล่าวว่า รู้สึกชอบแทบเล็ตเพราะได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการใช้งาน ทำให้เวลาเรียนสนุกกับการเรียนไปด้วย
ที่มา – bangkokbiznews