ผลวิจัยล่าสุดของ GfK เผยให้เห็นว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในจีนเชื่อว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตในอนาคตอันใกล้นี้ คิดเป็นสัดส่วนพอๆกับการชำระเงินผ่านมือถือ และมากกว่าเทคโนโลยีสวมใส่ (wearable technology) แต่ในญี่ปุ่นมีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 5 ที่คิดว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิต และคิดว่าการชำระเงินผ่านมือถือจะมีอิทธิพลมากกว่าเยอะ ส่วนในเกาหลีใต้นั้น ผู้บริโภคครึ่งหนึ่งคิดว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิต
ผลลัพธ์ข้างต้นได้จากการสำรวจผู้บริโภคใน 7 ประเทศ ด้วยการตั้งคำถามกับผู้บริโภคว่า ในบรรดาเทคโนโลยีสุดล้ำสมัย 11 เทคโนโลยี มีเทคโนโลยีใดบ้างที่ผู้บริโภคเชื่อว่าจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยมีให้เลือกตั้งแต่เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยี augmented/virtual reality ไปจนถึง Internet of Things ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกตอบกี่เทคโนโลยีก็ได้
จีน: สนใจและหลงใหลเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม
ในประเทศจีน ผู้บริโภค 96% ที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าพอเข้าใจคอนเซปต์ของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม และ 82% ยืนยันว่ามีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ จีนจึงเป็นตลาดที่รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมมากที่สุดแห่งหนึ่ง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับบรรดาผู้ผลิตและผู้ค้า
ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถาม 75% ในจีนคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมทุกประเทศที่เกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย เทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจึงอยู่ในระดับเดียวกับการชำระเงินผ่านมือถือ (74%) ในแง่ของอิทธิพลต่อชีวิต ทั้งยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเทคโนโลยีสวมใส่ (59%) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (51%)
สำหรับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจนั้น ผลสำรวจเผยให้เห็นว่าอุปกรณ์ทุกประเภทได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของทุกประเทศ โดยอุปกรณ์ “รักษาความปลอดภัยและควบคุม” และอุปกรณ์ “ความบันเทิงและการเชื่อมต่อ” ได้รับความสนใจสูงสุดเท่ากัน (63%) ตามมาติดๆด้วยอุปกรณ์ “ตรวจสุขภาพ” (62%) “เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ” (61%) รวมถึงอุปกรณ์ “ส่องสว่างและให้พลังงาน” (60%)
ญี่ปุ่น: มีแค่ 1 ใน 5 ที่คิดว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิต
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ตอบรับเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมน้อยที่สุดในการวิจัยนี้ โดยผู้บริโภคที่พอเข้าใจคอนเซปต์ของสมาร์ทโฮมมีเพียง 53% ส่วนคนที่มีความรู้ในเรื่องนี้มีเพียง 30%
นอกจากนี้ มีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 5 (19%) เท่านั้นที่เชื่อว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ผู้บริโภค 37% เชื่อว่าการชำระเงินผ่านมือถือจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิต 22% เชื่อว่าเป็นคลาวด์คอมพิวติ้ง และ 20% เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีสวมใส่
เมื่อมีการสอบถามความสนใจในอุปกรณ์สมาร์ทโฮมประเภทต่างๆ พบว่า ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นสนใจอุปกรณ์ “รักษาความปลอดภัยและควบคุม” มากที่สุด (31%) ตามมาด้วยอุปกรณ์ “ตรวจสุขภาพ” (25%) ในขณะที่อุปกรณ์ “ส่องสว่างและให้พลังงาน” ได้รับคะแนนเท่ากับ “เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ” (24% ทั้งคู่)
เกาหลีใต้: ผู้บริโภคครึ่งหนึ่งเชื่อว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิต
ผู้บริโภคเกาหลีใต้ 88% มีความเข้าใจในคอนเซปต์ของสมาร์ทโฮม และ 62% ระบุว่ามีความรู้ระดับหนึ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้
นอกจากนี้ ผู้บริโภคเกินครึ่ง (56%) เชื่อว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิต ซึ่งสูงกว่าเทคโนโลยีการชำระเงินผ่านมือถือ (54%) และรถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (50%) อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเกาหลีใต้คือเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (62%)
ส่วนอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเกาหลีใต้คืออุปกรณ์ “รักษาความปลอดภัยและควบคุม” (54%) ตามมาด้วยอุปกรณ์ “ส่องสว่างและให้พลังงาน” (44%) อุปกรณ์ “ตรวจสุขภาพ” (42%) และ “เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ” (40%)
อุปสรรคในการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทโฮม
จากการวิจัยใน 7 ประเทศพบว่า อุปสรรคสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมมาใช้ก็คือ “ราคา” โดยผู้ตอบแบบสำรวจราว 1 ใน 3 พูดถึงประเด็นนี้ ขณะเดียวกัน 1 ใน 4 ก็มีความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัว (เช่น บ้านจะโดนแฮกข้อมูลหรือไม่) ซึ่งประเทศในเอเชียกังวลในเรื่องเหล่านี้เหมือนกันทั้งหมด
ผู้บริโภคเกาหลีใต้มีความกังวลเรื่องราคาของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมมากที่สุด (30%) ตามมาติดๆด้วยจีน (29%) ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นมีความกังวลด้านราคาน้อยกว่านิดหน่อย (25%)
จีนเป็นประเทศที่มีความวิตกเกี่ยวกับประเด็นความเป็นส่วนตัวสูงสุด (27%) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ (24%) และ ญี่ปุ่น (18%)
รานจ์ เดล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีของ GfK ในสหราชอาณาจักร และผู้จัดการการวิจัยครั้งนี้ แสดงความคิดเห็นว่า “เราจะเห็นได้ว่า แต่ละชาติมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับอิทธิพลของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม รวมถึงความสนใจในการใช้เทคโนโลยีนี้ โดยแต่ละประเทศล้วนมีมุมมองและความต้องการที่แตกต่างกัน งานวิจัยของเราจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจถึงโอกาสของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมในตลาดแต่ละแห่งและนำวิธีของตนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม”
เกี่ยวกับการสำรวจ
GfK ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 16 ปีกว่า 1,000 คนในเยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา บราซิล เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น โดยทำการสัมภาษณ์ผ่านทางออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเหมือนตัวแทนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศ โดยการสำรวจมีขึ้นในเดือนกันยายนและตุลาคม 2558