นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็มและมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน เปิดเผยถึงการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการสร้างแอพสมาร์ทโฟนนำทาง ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ นักวิจัยจากไอบีเอ็มและคาร์เนกี้ได้สร้างแอพนำร่องชื่อเนฟค็อก (NavCog) ขึ้นบนแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยแอพนี้สามารถดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ เพื่อแจ้งให้ผู้พิการทางสายตาในวิทยาเขตของคาร์เนกี้สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ ผ่านทางเสียงกระซิบที่หูฟังหรือการสั่นที่สมาร์ทโฟน โดยแอพดังกล่าวจะวิเคราะห์สัญญาณจากเซ็นเซอร์ของสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์บลูทูธที่ติดตั้งอยู่ตามทางเดิน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเดินทางไปที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคารได้โดยไม่ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ ปัจจุบันได้เริ่มมีการเปิดให้ดาวน์โหลดแอพเนฟค็อกที่แอพสโตร์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดกว้างให้นักพัฒนาสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโค้ดและเครื่องมือพัฒนาแอพค็อกนิทิฟดังกล่าวได้ ผ่านทางคลาวด์บลูมิกซ์ของไอบีเอ็มที่ http://hulop.mybluemix.netโดยมีเครื่องมือต่างๆ อาทิ เครื่องมือช่วยสร้างแอพสำหรับนำทาง เครื่องมือปรับแก้แผนที่ อัลกอริธึ่มสำหรับการปรับองค์ประกอบต่างๆ ให้ตรงกับตำแหน่งสถานที่นั้นๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรู้ได้แทบจะทันทีว่าตนอยู่ที่ไหน กำลังหันหน้าไปทางไหน พร้อมทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวในขณะนั้น โดยเครื่องมือสร้างแอพนำทางยังสามารถแปลงภาพสิ่งรอบตัวจากสมาร์ทโฟน ให้เป็นโมเดลพื้นที่สามมิติ เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าใจลักษณะพื้นที่ที่ตนอยู่และช่วยให้การนำทางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัจจุบันทีมนักวิจัยกำลังพยายามหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถให้แอพรุ่นต่อๆ ไป ตัวอย่างเช่นการพัฒนาความสามารถในการรับรู้ว่าใครกำลังเข้ามาใกล้และบุคคลนั้นมีสภาวะทางอารมณ์เป็นเช่นไร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยผนวกรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลากหลายรูปแบบรอบตัวเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นค็อกนิทิฟต่างๆ อาทิ การรู้จำใบหน้าในสถานที่สาธารณะ การนำเทคโนโลยีอัลตร้าโซนิคมาช่วยให้การระบุสถานที่เป็นไปได้อย่างแม่นยำขึ้น เป็นต้น
ไอบีเอ็มได้มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้พิการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 100 ปี เพื่อช่วยให้พนักงาน ลูกค้า และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้ โดยที่ผ่านมา มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ อาทิ ปริ้นเตอร์สำหรับอักษรเบล เครื่องพิมพ์ดีดพูดได้ และเครื่องอ่านหน้าจอที่ช่วยให้การใช้งานเป็นไปอย่างคล่องตัวเครื่องแรก