กสทช. ประวิทย์ ส่งสัญญาณผู้ใช้บริการมือถือระบบ 2G ของทรูมูฟและดิจิตอลโฟนอย่านิ่งนอนใจ หากต้องการรักษาเบอร์มือถือ ต้องย้ายออกก่อน 17 กรกฎาคมนี้ เลี่ยงเจอปัญหาซิมดับ แต่ถ้าต้องการยุติบริการ ก็ควรเร่งใช้สิทธิขอเงินที่เหลือค้างในระบบคืน
เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนก็จะครบกำหนดการขยายเวลาประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 1800 MHz หรือมาตรการเยียวยา ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 94/2557 ที่ระบุให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่มีคำสั่งให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งคำสั่งจะครบกำหนดในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ที่จะถึงนี้
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือ “หมอลี่” เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานเมื่อเร็วๆ นี้จากคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ของสำนักงาน กสทช. ว่า ปัจจุบันยังคงมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ค้างอยู่ในระบบถึงกว่า 700,000 เลขหมาย ขณะที่บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด มีลูกค้าเหลืออยู่ประมาณ 2,700 เลขหมาย โดยมียอดเงินที่ค้างอยู่กับผู้ให้บริการรวมกันทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งผู้ใช้บริการในส่วนนี้ หากไม่เร่งโอนย้ายออกจากระบบ พอถึงกำหนดก็จะประสบกับปัญหาซิมดับ หรือไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นจึงอยากแจ้งให้ผู้ใช้บริการของทั้งสองบริษัทดังกล่าวทราบว่า หากประสงค์จะใช้บริการเบอร์เดิมได้อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องเร่งดำเนินการโอนย้ายหมายเลขโทรศัพท์ออกจากระบบไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ก่อนสิ้นสุดกำหนดระยะเวลา
“สำหรับคนที่ต้องการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย หรือย้ายค่ายเบอร์เดิม สามารถเลือกผู้ให้บริการรายใหม่ได้ตามความพึงพอใจ ไม่จำกัดว่าต้องโอนย้ายไปอยู่กับผู้ให้บริการใหม่ในเครือบริษัทเดิมเท่านั้น โดยสามารถติดต่อศูนย์ให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการรายใหม่ที่เราต้องการโอนย้ายไปใช้บริการได้ทันที ซึ่งการโอนย้ายใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ด ก็จำเป็นต้องไปลงทะเบียนซิมการ์ดกับผู้ให้บริการรายเดิมเสียก่อน แล้วจึงสามารถติดต่อขอโอนย้ายเลขหมายได้ แต่ทั้งนี้ผู้ให้บริการแต่ละรายมีขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมายได้ไม่เกิน 60,000 เลขหมายต่อวัน เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้ผู้ใช้บริการนิ่งนอนใจจนถึงนาทีสุดท้าย ที่แน่ๆ ต้องเผื่อเวลาไว้มากกว่า 3 วัน ถ้าให้ดี อย่างช้าก็ไม่ควรเกินวันที่ 11 หรือ 12 กรกฎาคม เพราะถ้าไปติดต่อขอโอนย้ายแบบกระชั้น ถึงแม้จะก่อนวันที่มาตรการเยียวยาสิ้นสุด แต่หากในช่วงเวลานั้นมีผู้ขอโอนย้ายเกินขีดจำกัดของผู้ให้บริการ ก็จะเกิดปัญหาซิมดับอยู่ดี” นายประวิทย์กำชับ
ส่วนในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องการใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวอีกต่อไป นายประวิทย์ให้คำแนะนำว่า ผู้ใช้บริการก็สามารถปิดบริการและขอเงินที่ค้างอยู่ในระบบทั้งหมดคืนได้ โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องคืนเงินผู้ใช้บริการภายใน 30 วัน โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าผู้ใช้บริการต้องขอเงินคืนภายในระยะเวลาเท่าใด และผู้ใช้บริการสามารถแจ้งความประสงค์ให้คืนเป็นเงินสด เช็ค หรือโอนผ่านบัญชีธนาคารก็ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดข้อมูลของผู้ใช้บริการในการไปขอเงินคืน หรือไม่ไว้ใจบริษัทว่าหากไปขอเงินคืนภายหลังที่ซิมดับ แล้วบริษัทจะแจ้งข้อมูลไม่ตรงกับยอดเงินที่เหลืออยู่จริงในระบบ “หมอลี่” มีคำแนะนำว่า “ผู้ใช้บริการสามารถใช้วิธีกดเช็คยอดเงินในคืนวันสุดท้ายก่อนที่สัญญาณโทรศัพท์จะไม่สามารถใช้งานได้ และหาทางเก็บเป็นหลักฐานข้อมูลไว้แสดงกับบริษัท แต่ถ้าจะให้ดี ก็อยากแนะนำให้ไปปิดบริการล่วงหน้าอย่างน้อยสักวันหรือสองวัน โดยไปกดเช็กยอดเงินคงเหลือที่หน้าเคาน์เตอร์ของศูนย์บริการลูกค้าเลยก็ได้ หลังจากนั้นก็แสดงข้อมูลขอเงินคืนพร้อมกับปิดบริการ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการโต้แย้งกันเรื่องจำนวนเงิน”