รายงาน Ericsson Mobility Report 2014 (อีริคสัน โมบิลิตี้ รีพอร์ท ประจำปี 2014) เผยว่า 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค อันได้แก่ อินโดนีเซีย ประเทศไทย และบังคลาเทศ ถือเป็นประเทศที่มีจำนวนการใช้โมบายโฟน (Mobile Phone) เพิ่มสุทธิ (Net additions) มากที่สุดติดอันดับท็อป 5 ของโลก ในไตรมาสที่ 1 ในปี 2014 โดยมีการใช้โมบายโฟนเพิ่มรวมกันมากกว่า 17 ล้าน
นาง คามิลล่า วอลเทียร์ ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทย กล่าวถึงว่า “การใช้งานโมบายอินเทอร์เนต ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและโอชิเนียจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัวในช่วงระหว่างปี 2013-2019 ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปริมาณดาต้าทราฟฟิคบนเครือข่ายโมบายประมาณ 2 Exabyte โดยปริมาณ 1 Exabyte นั้นเทียบเท่ากับ 1018 byte หรือ 1 พันล้าน gigabyte (1 ล้านล้านล้าน byte) โดยทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเติบโตของดาต้าทราฟฟิคบนเครือข่าย ก็คือ ความนิยมในการใช้แอพพลิเคชั่นและบริการต่างๆที่เพิ่มขึนอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยรุ่น และที่น่าสนใจก็คือจำนวนประชากรกลุ่มวัยรุ่นในภูมิภาคนี้มีอยู่กว่า 170 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย”
กลุ่มคนวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการเปิดรับเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ รวมถึง ความต้องการที่จะเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ตลอดเวลาในทุกๆสถานที่อีกด้วย เริ่มตั้งแต่การบริการขั้นพื้นฐาน เช่น Voice การโทรและรับสายโทรศัพท์ การส่งข้อความหากันในโปรแกรม LINE, WhatsApp, WeChat, และ KakaoTalk โดยการบริการเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาสามารถแชร์และมีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆในกลุ่มสังคมออนไลน์ได้ตลอดเวลา การได้สนทนาในกรุ๊ปส่วนตัวกับเพื่อน หรือการเล่นเกมส์ การส่งสติ๊กเกอร์ ภาพต่างๆ และแชร์เพลง นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้งานโซเชียลมีเดีย ตลอดจนการรับชมวิดีโอสตรีมมิ่ง
นาย บัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า 3 ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมไอซีทีในภูมิภาคนี้ คือ ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่น รูปแบบวิถีชีวิตสังคมเมือง และการเข้าถึงอุปกรณ์ของสมาร์ทโฟนสมาร์ทดีไวท์ (Smartphone Smart device)ต่างๆ ณ ปัจจุบัน เราจะสังเกตได้ว่าอุปกรณ์สมาร์ทโฟนนั้นกลายเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงอินเทอร์เนต ประกอบกับราคาของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนนั้นเองก็มีราคาที่ถูกลงอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เนตได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ในทุกวันนี้ สัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคนี้ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่กำลังพัฒนา ไปจนถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการนำเทคโนโลยี ICT มาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเราคาดการณ์ว่า ในปี 2019 ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในภูมิภาคของเราจะเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า โดยมีจำนวนมากกว่า 700 ล้าน และจะมีจำนวนเกินกว่าครึ่งของผู้ใช้งานโมบายโฟนทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 1.3 พันล้านคน
เมื่อปลายปี 2013 จำนวนของผู้ใช้งาน LTE ในภูมิภาคนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20 ล้าน โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต่างให้ความสนใจในระบบ 4G/LTE อย่างมาก แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนานั้น คาดว่า 4G/LTE จะเข้ามามีบทบาทสำคัญภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยภายในปี 2019 เมื่อเครือข่าย 4G/LTE ต่าง ได้รับการติดตั้งในประเทศต่างๆ มากขึ้น เราคาดการณ์ว่าผู้ใช้งาน LTE จะอยู่ที่ประมาณ 230 ล้าน โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในภูมิภาคนี้อีกด้วย
โดยรายงานนี้ยังแสดงผล Speedtest ความเร็วบนเครือข่ายโมบายต่างๆ โดย ประเทศออสเตรเลียและสิงคโปร์ นั้นมีอัตราความเร็วเฉลี่ยที่ดีทีสุดในภูมิภาคนี้อีกด้วย
จากรายงานอีริคสัน ยังเผยว่า 3 ประเทศในภูมิภาคนี้ อันได้แก่อินโดนีเซีย ประเทศไทย และบังคลาเทศ ถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานโทรศัพท์มากที่สุดติดอันดับท็อป 5 ในไตรมาสที่ 1 ในปี 2014
นอกจากนี้ ภาคผนวกในส่วนที่เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคซึ่งตีพิมพ์อยู่ในอีริคสัน คอนซูเมอร์แล็บ ยังมีการอธิบายในเรื่องของเทรนด์การใช้งานอุปกรณ์ M2M การใช้งานสมาร์ทโฟน และการใช้งาน LTE
ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงาน Ericsson Mobility Report 2014 สามารถสรุปได้ดังนี้
– การใช้โมบายโฟน (Mobile Phone Subscription) ทั่วโลกในไตรมาส 1 ปี 2014 มีประมาณ 6.8 พันล้าน โดยเพิ่มขึ้น 120 ล้านหรือ ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์
– 5 ประเทศที่มีการใช้โมบายโฟนเพิ่มสุทธิ (Net additions) สูงสุดในไตรมาส 1 ปี 2014 คือ อินเดีย 28 ล้าน, จีน 19 ล้าน, อินโดนีเซีย 7 ล้าน, ไทย 6 ล้าน และ บังคลาเทศ 4 ล้าน
– ยอดการใช้โมบายโฟนทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 9.2 พันล้าน ในปี 2019 โดยจะมีการใช้งานในแบบโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband) มากกว่า 7.4 พันล้าน หรือ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของยอดผู้ใช้ทั้งหมดทั่วโลก
– ยอดการใช้บริการ 4G LTE ทั่วโลกในไตรมาส 1 ปี 2014 อยู่ที่ประมาณ 240 ล้าน โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 พันล้านในปี 2017 และสูงถึง 2.6 พันล้านในปี 2019
– จำนวนการใช้สมาร์ทโฟน (Smartphone) ทั่วโลกในไตรมาส 1 ปี 2014 มีประมาณ 1.9 พันล้าน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 พันล้านในปี 2019
– กว่า 65% ของโมบายโฟน (Mobile Phone) ที่ขายทั้งหมดทั่วโลกในไตรมาส 1 ปี 2014 เป็นสมาร์ทโฟน (Smartphone) โดยยอดขายของสมาร์ทโฟนในไตรมาสที่ 1 ปี 2013 นั้นอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น
– ปริมาณทราฟฟิคที่เกิดจากสมาร์ทโฟนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่าตัวระหว่างปี 2013 และ 2019
– ปริมาณทราฟฟิคในรูปแบบโมบายวิดีโอจะเพิ่มขึ้นประมาณ 13 เท่าระหว่างปี 2013 และ 2019 โดยมากกว่า 50% ของทราฟฟิคบนโมบายทั่วโลกจะอยู่ในรูปแบบวีดีโออีกด้วย
– ผู้ใช้สมาร์ทโฟนคาดว่าจะมีการใช้โมบายดาต้า เพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่าตัว (4X) หรือประมาณ 2.5 GB ต่อเดือนในปี 2019 จากปริมาณการใช้โมบายดาต้าที่ 650 MB ต่อเดือนเมื่อปลายปี 2013