แอปเปิ้ล ยังคงรั้งอันดับที่หนึ่งใน BrandZ Top 100 Ranking of the Most Valuable Global Brands ในปี 2556 ด้วยมูลค่าแบรนด์ 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเติบโตเพียง 1% จากปีที่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตถึง 51% ของซัมซุง ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ใกล้ชิดที่สุดและปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 30 จากผลการจัดอันดับทั่วโลกด้วยมูลค่าแบรนด์ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
กูเกิลยังคงเป็นคู่แข่งที่สำคัญในการแย่งชิงอันดับที่หนึ่ง หลังจากที่สามารถพลิกฟื้นตัวจากช่วงขาลงในปีที่ผ่านมาจนกลับมาเติบโตได้ 5% เมื่อวัดจากมูลค่าแบรนด์ในปีนี้ กูเกิลอยู่ในอันดับที่สองของการจัดอันดับด้วยมูลค่าแบรนด์ 1.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไอบีเอ็มรั้งอันดับสามด้วยมูลค่าแบรนด์ 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ในการแย่งชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนนั้น ซัมซุงผลักดันมูลค่าแบรนด์ได้อย่างมหาศาลด้วยการสร้างสมดุลในเรื่องกรอบเวลาของการออกนวัตกรรม พร้อมด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด บริษัทได้ลงทุนด้านการโฆษณาเพิ่มขึ้นในวงเงิน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา” นิค คูเปอร์ กรรมการผู้จัดการของมิลล์วาร์ด บราวน์ ออพติมอร์ (Millward Brown Optimor) กล่าว “ถึงแม้ว่าตลาดจะแข่งขันกันมากขึ้น ขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆต่างก็เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง ศักยภาพในการรักษาอันดับที่หนึ่งของแอปเปิ้ลแสดงให้เห็นถึงมูลค่าของแบรนด์ที่แข็งแกร่งว่ามีผลต่อธุรกิจ ผู้คนยังคลั่งไคล้ในแบรนด์แอปเปิ้ลโดยไม่สนใจในราคาหุ้น”
ผลการวิจัย BrandZ(TM) Top 100 Ranking of the Most Valuable Global Brands ซึ่งออกแบบโดย WPP และดำเนินการโดยมิลล์วาร์ด บราวน์ ออพติมอร์ ปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 และเป็นเพียงการจัดอันดับหนึ่งเดียวที่ศึกษาจากมุมมองของผู้ที่มีแนวโน้มว่า จะเป็นผู้ซื้อ และกลุ่มผู้ซื้อรายเดิมและข้อมูลงบการเงิน เพื่อประเมินมูลค่าแบรนด์
มูลค่ารวมของ 100 แบรนด์อันดับแรกเพิ่มขึ้น 77% นับตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เดวิด รอธ ซีอีโอของเดอะ สโตร์ (The Store) ที่ WPP กล่าวว่า “การจัดอันดับในปีนี้เน้นไปที่ผลตอบแทนจากการลงทุนที่แบรนด์มีต่อธุรกิจ ซึ่งบ่งชี้ว่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดขยายตัวและมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถด้านการควบคุมส่วนต่างราคา และให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นสูงกว่า”
ไอลีน แคมเบลล์ ซีซีโอระดับโลกของ มิลลาร์ด บราวน์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเกี่ยวกับแบรนด์กล่าวเสริมว่า “มูลค่าแบรนด์และการประเมินในเรื่องอื่นๆซึ่งบ่งชี้ถึงผลตอบแทนจากการลงทุนทางการตลาดที่ช่วยให้นักการตลาดมีมุมมองที่กว้างขึ้น ด้วยการรับประกันว่า จะมีความเข้าใจด้านการตลาดที่ดีขึ้น ตลอดทั้งเป็นแรงผลักดันที่สำคัญด้านการเงินและความสำเร็จของธุรกิจ”
10 อันดับแบรนด์ระดับโลกที่มีมูลค่าสูงที่สุดในปี 2556
ข้อมูลที่สำคัญที่ค้นพบในรายงานผลการวิจัยประจำปีนี้ ประกอบไปด้วย:
– บริษัทที่อันดับพุ่งขึ้นสูงสุดมีความแตกต่างอย่างชัดเจน: แบรนด์ 10 อันดับแรกที่มูลค่าเติบโตสูงสุดได้รับคะแนนสูงกว่ามาตรวัดโดยเฉลี่ยอย่างมากในเรื่องของความหมาย ความแตกต่าง และความโดดเด่น ในการจัดอันดับของ BrandZ(TM) แบรนด์พราดาเติบโตสูงที่สุดเมื่อวัดจากมูลค่าแบรนด์ โดยเพิ่มขึ้น 63% สูงกว่าผลตอบแทนของแบรนด์หรูหราอื่นๆและปัจจุบันรั้งอันดับที่ 4 ในประเภทแบรนด์หรูหรา (อันดับที่ 95 ของทั่วโลก) และมีมูลค่าแบรนด์ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
– แบรนด์เครื่องดื่มเติบโตอย่างรวดเร็ว: แบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเบียร์ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกเป็นแบรนด์ประเภทที่เติบโตสูงที่สุดของการจัดอันดับในปีนี้ โดยแบรนด์เบียร์ 10 อันดับแรกเติบโต 36% และมีมูลค่าแบรนด์รวมกัน 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมเบียร์ได้รับอานิสงส์จากยอดขายที่เติบโตในละตินอเมริกาและจีน โดย ไฮเนเก้น ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มระดับโลกรั้งอันดับที่ 3 ด้วยมูลค่าแบรนด์ 8 พันล้านดอลลาร์ จากผลตอบแทนจากการประชาสัมพันธ์ผ่านทางภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอน สกายฟอลล์ ในขณะที่แบรนด์เบียร์ Brahma ของบราซิลเติบโต 61% ในปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าแบรนด์ 4 พันล้านดอลลาร์
– แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า: จากการวิเคราะห์การนำเอาแบรนด์ใน BrandZ(TM) Top 100 Ranking of the Most Valuable Global Brands มาไว้ใน “พอร์ตหุ้น” ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับดัชนี S&P500 ในปัจจุบัน ในขณะที่มูลค่าบริษัทที่คำนวณในดัชนี S&P500 ซึ่งเติบโต 23% พอร์ตของ BrandZ(TM) เติบโต 58% ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า บริษัทที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งสามารถที่จะนำเสนอมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้สูงกว่า สามารถดูกราฟได้ที่นี่ [http://www.millwardbrown.com/brandz/2013/Top100/Docs/2013_BrandZ_Top100_SP-Chart.pdf]
– ในขณะที่แบรนด์เทคโนโลยียังโดดเด่นมากที่สุดในการจัดอันดับ แบรนด์ดิจิตอลจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว: แบรนด์เทคโนโลยีและโทรคมนาคมยังคงโดดเด่นที่สุดในการจัดอันดับที่ติดอันดับมากถึง 29 แบรนด์ใน 100 อันดับแรกของ BrandZ(TM) คิดเป็นมูลค่า 43% ของมูลค่าทั้งหมดใน 100 อันดับแรก หรือสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตของแบรนด์เทคโนโลยียังคงทรงตัว และในขณะที่มูลค่าแบรนด์เฟซบุ๊กลดลง เทนเซนต์ ซึ่งเป็นแบรนด์จีนกลับเพิ่มขึ้น 52% และติด 10 อันดับแรกแบรนด์ที่เติบโตรวดเร็วที่สุดด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านคน ขณะที่ยาฮูก็สามารถติดอันดับหลังจากที่ได้แต่งตั้งซีอีโอที่มาจากกูเกิล ซึ่งช่วยให้มีความหวังมากขึ้น และจากราคาหุ้นที่ผลักดันให้มูลค่าแบรนด์สูงขึ้น
ผลการศึกษา BrandZ(TM) Top 100 Ranking of the Most Valuable Global Brands ได้เปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์ และประกอบไปด้วยการจัดอันดับและการวิเคราะห์แบรนด์ที่มีคุณค่าสูงสุดสำหรับแต่ละภูมิภาคที่สำคัญทั่วโลก และใน 13 ตลาด สามารถดาวน์โหลดผลการจัดอันดับของ BrandZ(TM) ฉบับเต็มได้ที่นี่ [http://www.millwardbrown.com/brandz/2013/Top100/Docs/2013_BrandZ_Top100_Report.pdf] ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลการประเมินตามภูมิภาคและประเภท ตลอดทั้งข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มบริษัท WPP การจัดอันดับแบรนด์และและรายละเอียดเกี่ยวกับแบรนด์ในเชิงลึกสามารถดูได้ฟรีจากแอพมือถือสำหรับแอปเปิ้ลและแอนดรอยด์ในรูปแบบนิตยสารสำหรับไอแพด [https://itunes.apple.com/us/app/wpp-brandz/id571644755?ls=1&mt=8]