นายวิโรจน์ อัศวรังสี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ แอสไพเรอร์ส กรุ๊ป ตัวแทนจำหน่ายระบบด้านการศึกษาของบริษัท แอปเปิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า รูปแบบการเรียนการสอนทั่วโลกเริ่มมีการใช้แท็บเล็ตทดแทนหนังสือเรียนบางส่วนมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
[adsense]
ขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยมีโครงการแท็บเล็ต ป.1 เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้งานกว้างขวางมากขึ้น และยังส่งผลให้ตลาดคอนเทนต์มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาทที่เป็นรูปหนังสือ เริ่มปรับมาเป็นระบบดิจิตอลมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ แอสไพเรอร์ส ได้ร่วมมือกับสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช ซึ่งมีตำราเรียนมากที่สุด ได้ร่วมกันพัฒนาโซลูชันตำราเรียนดิจิตอลบนเทคโนโลยีไอบุ๊กส์ของแอปเปิล ทำให้นักเรียนได้ใช้หนังสือเรียนยุคใหม่บนไอแพด สามารถดูรูปภาพและวิดีโอ และเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ได้ทั่วโลก โดยได้พัฒนาครบทั้ง 8 สาระวิชาสำหรับนักเรียน ม.1 แล้ว และกำลังเดินหน้าพัฒนาสำหรับระดับชั้นอื่นๆ ต่อไป
สำหรับในปีแรก แอสไพเรอร์ส ตั้งเป้ามีโรงเรียนที่นำระบบดังกล่าวไปใช้งานประมาณ 500 โรงเรียน จากโรงเรียนในประเทศไทยที่มีกว่า 3.9 หมื่นโรงเรียน โดยล่าสุดมี 20 โรงเรียนแสดงความสนใจเข้ามาแล้ว นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะพัฒนาโซลูชันให้รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และวินโดวส์ 8 ในปีนี้ เพื่อขยายตลาดในอนาคต
“หากต้องการลงทุนโซลูชันสมบูรณ์ทั้งระบบ 1 ห้องเรียน สำหรับนักเรียน 40 คน ใช้เงินประมาณ 7-8 แสนบาท ถือว่าใกล้เคียงกับห้องโสตทัศนศึกษา” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวรชัย จงพิพัฒนสุข กรรมการ บริหาร สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช กล่าวว่า ต้นทุนคอนเทนต์ต่อชิ้นจะใกล้เคียงกับหนังสือเรียน คือ ราคาไม่เกิน 100 บาท แต่คอนเทนต์บนไอแพดจะสวยงามกว่า ครบถ้วนสมบูรณ์ ส่งเสริมการเรียนรู้มากกว่า แม้จะมีต้นทุนฮาร์ดแวร์คือ ไอแพด เพิ่มขึ้นมา แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสุดท้ายแล้วในอีก 3 ปีข้างหน้า ไอแพดและแท็บเล็ตจะเป็นอุปกรณ์หลักในการเรียนรู้ของเด็ก ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
“หนังสือเรียนดิจิตอล ส่วนใหญ่เป็นไฟล์พีดีเอฟเท่านั้น อาจจะมีสอดแทรกแฟลช หรืออินเตอร์แอ็กทีฟ แต่ที่ทำเต็มรูปแบบเป็นโซลูชันการเรียนรู้ ต้องบอกว่าแอสไพเรอร์ส และวัฒนาพานิช ทำเป็นแห่งแรกในอาเซียน และอนาคตมีโอกาสไปขยายตลาดต่างประเทศ แต่จะเน้นในไทยก่อน” นายวรชัย กล่าว
ด้านนายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านจากหนังสือไปสู่หนังสือดิจิตอล ทางสมาคมได้ประเมินแล้วคาดว่าในเวลา 3 ปีนี้จะยังไม่ถือเป็นนัยสำคัญต่อตลาด และไม่น่ากระทบต่อหนังสือปกติ
ขณะเดียวกัน เมื่อประเมินจากมูลค่าตลาดรวมหนังสือปกติกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท พบว่ามีสัดส่วนยอดจำหน่ายหนังสือดิจิตอลประมาณ 1% เท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ระบบซื้อขายคอนเทนต์หนังสือบนอุปกรณ์|แท็บเล็ตยังไม่ชัดเจน การแบ่งรายได้ระหว่างผู้ผลิต ผู้พัฒนาระบบ สำนักพิมพ์ และผู้ให้บริการแอพสโตร์ยังไม่ลงตัว
นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ใช้แท็บเล็ตในประเทศไทยยัง|ไม่กว้างพอ รวมทั้งโครงข่ายยังไม่พร้อมสำหรับให้ดาวน์โหลด และราคาหนังสือดิจิตอลยังไม่จูงใจมากนัก เมื่อเทียบกับราคาหนังสือปกติ
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมก็เตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากหนังสือดิจิตอลจะเกิดขึ้น มีโอกาสที่จะเกิดกับหนังสือเรียนก่อน เนื่องจากมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ และมีการพัฒนาหนังสือเรียนดิจิตอลเพื่อใช้งานบนแท็บเล็ต ป.1 ได้
“ต่างประเทศจะเห็นหนังสือดิจิตอลเริ่มแพร่หลายขึ้น เพราะปริมาณผู้ใช้มีมากพอ ทำให้คุ้มค่ากับการผลิตพัฒนา แต่ในประเทศไทยยังต้องใช้เวลา” นายวรพันธ์ กล่าว
สำหรับในส่วนของการเรียนการสอนนั้น จากนโยบายรัฐบาลให้ใช้แท็บเล็ต เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บความรู้และเข้าถึงความรู้ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนหนังสือเรียนดิจิตอล แต่ที่สำคัญคือต้องดูระดับอายุของผู้ใช้ หากผู้ใช้ยังอายุน้อย หรือเด็กเกินไปก็ไม่มีประโยชน์ และต้องมีระบบควบคุมที่ดีด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ที่ส่งผลเสียต่อเยาวชน
ที่มา – posttoday
Follow @flashfly
[adsense2]