MacBook Air รุ่นชิป M2 ของ Apple ใช้ระบบระบายความร้อนแบบพาสซีฟแทนพัดลม แต่เมื่อติดตั้งระบบระบายความร้อนแบบแอคทีฟจาก Frore Systems ก็พบว่าสามารถรีดประสิทธิภาพให้เพิ่มขึ้นได้อีก จากการทดสอบด้วยแอป Benchmark อย่าง Cinebench R23
บริษัทสตาร์ทอัป Frore Systems นำเสนอโซลูชันการระบายความร้อนแบบแอคทีฟ AirJet Mini โดยผู้ผลิตอ้างว่าทำงานได้ดีกว่าพัดลม และทำงานได้อย่างเงียบสนิท ภายใน AirJet มีเมมเบรนเล็กๆ ที่สั่นด้วยความถี่อัลตราโซนิก เพื่อดึงอากาศเข้าไปในช่องระบายอากาศเข้าที่ด้านบนของ AirJet และปล่อยความร้อนออกทางด้านล่างเป็นไอพ่นที่เต้นเป็นจังหวะความเร็วสูง
จากการทดสอบติดตั้ง AirJet Mini ลงใน MacBook Air รุ่นชิป M2 ขนาด 15 นิ้ว พบว่าประสิทธิภาพได้รับการปรับปรุงขึ้นอย่างน่าประทับใจ เมื่อเทียบกับ MacBook Air มาตรฐานที่ไม่ได้รับการปรับแต่ง แต่นั่นเป็นการทดสอบกับ MacBook Air ที่ต้องมีการดัดแปลงเพื่อติดตั้งระบบระบายความร้อนใหม่จาก Frore Systems
AirJet Mini มีความหนาเพียง 2.8 มิลลิเมตร แต่ไม่สามารถติดตั้งลงใน MacBook Air ที่มีความบางเฉียบได้ จึงจำเป็นต้องมีการตัดฝาแล็ปท็อปออกบางส่วน เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับระบบไหลเวียนของอากาศ และยังถอดลำโพง เสาอากาศ Wi-Fi และขั้วต่อแป้นพิมพ์ภายในออกในกระบวนการนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ การติดตั้ง AirJet Mini ยังส่งผลให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของ MacBook Air ลดลงไม่มากก็น้อย เนื่องจาก AirJet Mini ใช้พลังงาน 5W จากพอร์ต USB-C ของ MacBook Air ขณะที่ Frore Systems กล่าวว่า AirJet Mini ต้องใช้พลังงาน 1W เมื่อรวมเข้ากับแล็ปท็อปอย่างเหมาะสม และระบบจะใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยเพียง 0.1W หรือ 0.2W เมื่อไม่ได้ใช้งาน
ถึงตรงนี้เชื่อว่าเจ้าของ MacBook Air คงตัดสินใจได้ว่า การเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการอัปเกรดไปซื้อ MacBook Pro ที่มีพัดลมช่วยระบายอากาศ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม โซลูชันการระบายความร้อนแบบแอคทีฟของ Frore Systems ไม่ได้ถูกสร้างมาเฉพาะ MacBook Air แต่ยังรองรับ mini-PC และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องการระบบระบายความร้อนที่ทันสมัย
ที่มา – The Verge