ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศจะออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันแล้ว Google มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ช่วยให้ผู้คนรู้เท่าทันข่าวสาร ปกป้องความสุจริตของการเลือกตั้ง (Election integrity) และสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการรายงานข่าวการเลือกตั้งให้กับสื่อมวลชน
การช่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ
Google นำเสนอข้อมูลคุณภาพสูงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ทั้งในส่วนของผลการค้นหา วิดีโอแนะนำ และแผงข้อมูล เพื่อช่วยให้ผู้คนพบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ด้าน YouTube มีส่วนของข่าวเด่นและข่าวด่วนเพื่อไฮไลต์การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีแผงข้อมูลผู้เผยแพร่เนื้อหาที่จะระบุว่าวิดีโอนั้นๆ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือกองทุนสาธารณะ ซึ่งจะระบุไว้ด้านล่างของวิดีโอ
ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เราทราบดีว่าผู้คนต้องการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและเป็นแนวทางในการเลือกตั้ง เราจึงได้จัดทำเพจแสดงเทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประเทศไทยเพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ง่ายยิ่งขึ้น เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 52 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวนกว่า 3 ล้านคน เข้าถึงข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับพวกเขาบนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ เรายังนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง เชื่อถือได้ และทันท่วงทีผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเรา ในส่วนของการป้องกันการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (Misinformation) เราได้จัดการอบรมให้กับสื่อมวลชนและสำนักข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือของ Google ที่จะช่วยให้การรายงานข่าวในช่วงการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และเชื่อถือได้”
ความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการปกป้องข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งบนโลกออนไลน์
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของไทยในปี 2566 นี้ Google News initiative (GNI) ร่วมกับ โคแฟค ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ AFP ประเทศไทย และ Punch Up ได้จัดการอบรม “GNI Election 2023 Workshop” ให้กับสื่อมวลชนและสำนักข่าวต่างๆ ในไทยกว่า 70 รายเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและบริการของ Google รวมทั้งข้อมูลจาก Google Trends และเทคนิคต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อประสิทธิภาพและความถูกต้องในการรายงานข่าวการเลือกตั้ง โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านการตรวจสอบข่าวลวงและการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบกราฟิก (Data visualization) เป็นผู้ให้ความรู้ นอกจากนี้ ทีม Google News Lab ยังได้จัดการอบรมเครื่องมือความปลอดภัยทางดิจิทัล “GNI Digital Security Training Workshop” เพื่อให้นักข่าวได้เรียนรู้ถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ ของ Google ในการป้องกันการถูกโจมตีทางออนไลน์ เช่น การโจมตีแบบปฏิเสธการให้บริการแบบกระจาย (Distributed Denial of Service หรือ DDoS) และฟิชชิง (Phishing) เป็นต้น
นอกจากนี้ Google ยังทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและสำนักข่าวต่างๆ ในการเสริมความปลอดภัยให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พวกเขาใช้ โดยได้เปิดให้พวกเขาลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรมการป้องกันข้อมูลขั้นสูง (Advanced Protection Program หรือ APP) ซึ่งเป็นการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดที่สุดของ Google โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ รวมถึง Project Shield ที่ใช้เทคโนโลยีของ Google เพื่อปกป้องเว็บไซต์ข่าวจากการโจมตีแบบ DDoS ก็เปิดให้สื่อมวลชนสมัครใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน
การจัดการการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบนแพลตฟอร์มของ Google
นโยบายของ Google Ads และ หลักเกณฑ์ของชุมชน YouTube ช่วยทำให้มั่นใจว่าผู้คนมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติแนะนำด้านดิจิทัลและความรับผิดชอบของตนในระหว่างการเลือกตั้ง นอกจากนี้ Google ยังมีนโยบายการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในเรื่องต่างๆ ได้แก่ นโยบายการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง นโยบายสำหรับการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 และ นโยบายสำหรับการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน บนแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Google ด้วย
มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวว่า “ความสุจริตของการเลือกตั้ง (Election integrity) เป็นสิ่งที่ YouTube ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เรามีการดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีนโยบายและระบบต่างๆ ที่เหมาะสมในการสนับสนุนการเลือกตั้งของไทย นอกจากการนำเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้แล้ว เรายังนำเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายออกจากแพลตฟอร์มของเราอย่างทันท่วงที โดยมีแมชชีนเลิร์นนิงและเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นอย่างดีคอยตรวจสอบเนื้อหา เป้าหมายของเราคือการรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องชุมชน YouTube จากอันตรายต่างๆ และการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่หลากหลายบนแพลตฟอร์มของเรา”
ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 อัตราการดูที่ละเมิดบน YouTube อยู่ที่ 0.09-0.11% และมีวิดีโอกว่า 5.6 ล้านรายการและช่องต่างๆ กว่า 6.4 ล้านช่องที่ถูกนำออกเนื่องจากละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน YouTube โดยในจำนวนนี้ มีวิดีโอที่ถูกนำออกจากประเทศไทยกว่า 69,000 รายการ ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถรายงานเนื้อหาที่เชื่อว่าละเมิดนโยบายของ YouTube รวมถึงการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ได้ที่นี่
Google ยังคงให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและเดินหน้าหาวิธีใหม่ๆ ในการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยทั่วโลก รวมถึงช่วยให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลการเลือกตั้งที่มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับพวกเขา และปกป้องข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งบนโลกออนไลน์ต่อไป