บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รายงานผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ เป็นผลจากการที่ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นจากการมุ่งเน้นขยายโครงข่าย และด้วยผลจากการมุ่งเน้นกลยุทธ์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ บริษัทยังคงมี EBITDA margin ที่แข็งแกร่งในไตรมาส 3/65 ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจมหภาคจากภาวะเงินเฟ้อ
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า “ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศไทยยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ จากปัจจัยภายนอก ทั้งนี้ ประเทศไทยเห็นการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของลูกค้าลดลง รวมทั้งการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมในไตรมาสนี้ยังคงมีความเข้มข้น แม้จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ดีแทคยังคงยึดมั่นให้ความสำคัญและเดินหน้าตามกลยุทธ์ของบริษัท และส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
จากการที่ดีแทคบรรลุเป้าหมายในการขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั้งหมด 77 จังหวัดภายในครึ่งปีแรก บริษัทยังคงมุ่งเน้นการเร่งขยายเครือข่าย 5G อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า โดยมีการติดตั้งสถานีฐานบนเครือข่าย 5G เพิ่มขึ้นประมาณ 600 สถานีฐานในไตรมาสนี้ และมีการติดตั้งสถานีฐานบนคลื่นย่านความถี่ต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 สถานีฐาน ทำให้มีสถานีฐานบนเครือข่าย 700 MHz ที่ได้รับการติดตั้งแล้วจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 18,800 สถานีฐาน คะแนนความพึงพอใจที่มีต่อเครือข่ายสุทธิของดีแทคมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน รวมทั้งมีการร้องเรียนเกี่ยวกับเครือข่ายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 775,000 รายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565”
ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/65 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมดอยู่ที่ 21.1 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากไตรมาสก่อน รายได้ค่าบริการไม่รวม IC คงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 0.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย EBITDA สำหรับไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 7,177 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมี EBITDA margin (normalized) แข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 43.8 ในไตรมาสที่ 3/65 และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 อยู่ที่ 488 ล้านบาท
นายนกุล เซห์กัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ดีแทค กล่าวว่า “กลยุทธ์ของดีแทคในการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางยังคงดำเนินต่อไป โดยมีลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) และบริการที่นอกเหนือจากการเชื่อมต่อ (dtac beyond) เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน โดยบริการโซลูชั่นที่เสนอขายให้กับ SME ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนยอดขายไลเซนส์ได้ถึง 2.5 เท่าจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ดีแทคยังได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์กับคู่ค้าเพื่อเป็นการสนับสนุนการสร้างการเติบโตของรายได้ โดยในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ รายได้จากการให้บริการจาก B2B เติบโตขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน dtac beyond ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปีก่อน ทั้งนี้ รายได้จาก dtac beyond ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ เติบโตขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพทำให้ดีแทคสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ได้ร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.1 จากปีก่อน นอกเหนือจากการลดค่าใช้จ่ายที่อยู่หลัง EBITDA ที่ทำเพิ่มได้อีกในไตรมาสนี้
EBITDA สำหรับไตรมาส 3/65 ลดลงร้อยละ 13.4 จากไตรมาสก่อน อันเนื่องมาจากผลกระทบเชิงบวกจากการปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการมุ่งเน้นกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ EBITDA (normalized) ยังคงทรงตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แรงกดดันทางเศรษฐกิจมหภาค และผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 3 ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2/65 ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการในไตรมาส 3/65 และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากต้นทุนค่าธรรมเนียมในปี 2564 กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 3/65 รวมผลกระทบจากค่าสินไหมทดแทนระหว่างกาลประมาณ 170 ล้านบาทจากการเคลมเงินประกันและค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นจากการขยายโครงข่าย CAPEX สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 1,954 ล้านบาท”
ดีแทคยังคงแนวโน้มสำหรับปี 2565 ตามที่ได้เคยแจ้งไว้ โดยมีรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) ในระดับคงที่หรือลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ ในขณะที่ EBITDA คงที่จนถึงเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ และมีระดับการลงทุนอยู่ที่ 11-13 พันล้านบาท
ตัวเลขสำคัญทางการเงิน ในไตรมาส 3 ปี 2565 (หลัง TFRS 15 และ 16)
- รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC 13,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- EBITDA อยู่ที่ 7,177 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- อัตรากำไร EBITDA (normalized) อยู่ที่ร้อยละ 43.8
- กำไรสุทธิ 488 ล้านบาท