AIS 5G ประกาศเปิดตัวอีกหนึ่งปรากฎการความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นพันธมิตรทดสอบ 5G พร้อมเปิดตัว AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ 5G R&D แห่งแรกและแห่งเดียวของสถาบันการศึกษาในเมืองไทย ณ อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา โดยได้มีการติดตั้ง LIVE Network ด้วยสถานีฐาน 5G กับ 2 คลื่นความถี่ 2600 MHzและ 26 GHz (mmWave) เพื่อเปิดเป็นพื้นที่สำหรับนิสิต คณาจารย์ นักพัฒนา รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงของเทคโนโลยี Digital ได้มีโอกาสลงมือทดลอง ทดสอบ และพัฒนาต่อยอดแนวคิดพัฒนา Use Case บนเครือข่าย 5G รวมถึงยังมีกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรม 5G เพื่อหนุนภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
ครั้งแรกในการส่งเสริมและสนับสนุนในภาคการศึกษาระหว่างพันธมิตรร่วมกันของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ AIS 5G
สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป อาจจะมองว่าเครือข่าย 5G เป็นเพียงเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตมีความเร็วขึ้น ดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ได้ในเวลาไม่กี่วินาที รองรับการสตรีมมิ่ง เล่นเกมออนไลน์ รับชมความบันเทิงได้อย่างทันใจ แต่ที่จริงแล้วครือข่าย 5G มีประโยชน์อย่างมากในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวิจัยและพัฒนาจากคนรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นจึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังกันระหว่าง AIS 5G กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ AIS ร่วมกันทดสอบ 5G มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ก่อนที่ AIS จะเริ่มให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการฯ รายแรกที่เปิดให้บริการด้วยคลื่นความถี่มากที่สุด คือ 1420 MHz และล่าสุดในปีนี้ นับเป็นครั้งแรกของสถาบันการศึกษาในไทย ที่มีศูนย์วิจัยและพัฒนา 5G ด้วยการติดตั้ง LIVE Private Network บนสถานีฐาน 5G กับ 2 คลื่นความถี่ 2600 MHz (Sub-6GHz) และ 26 GHz (mmWave) ภายใต้ชื่อโครงการ AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE ณ อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา
AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE โดดเด่น น่าสนใจและมีประโยชน์ให้กับภาคการศึกษาและทุกภาคส่วนอย่างไร
AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE เป็นพื้นที่ทดลองและทดสอบ 5G บนสภาพแวดล้อมจริงด้วย LIVE Private Network ซึ่งได้รับการติดตั้งสถานีฐาน 5G ทั้งคลื่น 2600 MHz (Sub-6GHz) ที่ผู้ใช้บริการ AIS 5G ได้ใช้งานกันตามปกติ และ คลื่น 26 GHz (mmWave) ที่เน้นใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนา 5G ภายในพื้นที่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะคลื่น 26 GHz (mmWave) ที่มีปริมาณ Bandwidth มหาศาล และให้ความหน่วงต่ำมาก (Low Latency) อีกทั้งยังสามารถจำกัดการใช้งานอยู่เฉพาะในพื้นที่ของสถาบันการศึกษา แยกจากเครือข่าย 5G ของผู้บริโภคทั่วไปอย่างชัดเจน ทำให้การใช้งาน 5G ในศูนย์วิจัยและพัฒนา AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE มีความเสถียรมากที่สุด เหมาะสำหรับการพัฒนา Use case ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Industrial solutions, Holograms Solutions หรือ Fixed Wireless Access-FWA
พื้นที่ในโครงการ AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนิสิต คณาจารย์ รวมถึงนักพัฒนา ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 5G ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพื่อศึกษา เรียนรู้ ทดลอง และทดสอบ เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AI (Artificial Intelligence), ML (Machine Learning), VR (Virtual Reality), AR (Augmented Reality), MR (Mixed Reality), IoT (Internet of Things), Metaverse, Robotic และนวัตกรรมอื่นๆ
ด้วยความครอบคลุมของคลื่นความถี่ 5G ภายใต้สภาพแวดล้อมเสมือนจริงอย่างของ LIVE Private Network ผู้ให้บริการฯ AIS ยังสนับสนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 5G CPE, องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G, พร้อมทั้งการสัมมนา Workshop จาก Guest Speaker หลากหลายวงการ เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิค ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill รวมไปถึงการเชิญชวนร่วม Co-Develop บริการต้นแบบบน 5G ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้นิสิต และ คณาจารย์ ได้ใช้เป็นพื้นที่ทำงานวิจัย พัฒนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox ได้อย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญ ยังถือเป็นการผสานองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคปฏิบัติที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจริงของ AIS 5G มาช่วยเสริมทักษะให้แก่นิสิต และ คณาจารย์
Use case ที่นำมาจัดแสดงที่ AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE
1. หุ่นยนต์ WALKIE : หุ่นยนต์บริการในครัวเรือน หรือ Domestic service robot ที่สามารถทำงานบ้าน และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อาศัยภายในบ้านได้ เพราะมี AI อัจฉริยะที่ทำให้รู้ตำแหน่งของสิ่งของต่าง ๆ และหุ่นสามารถเดินไปที่บริเวณห้องที่มีสิ่งของเหล่านั้นได้อัตโนมัติ พร้อมโต้ตอบได้แบบ Real Time ซึ่งต้องใช้ศักยภาพของ 5G ในการทำงาน โดยเป็นนวัตกรรมของชมรมหุ่นยนต์แห่งวิศวฯ จุฬาฯ (EIC Chula) ที่สามารถคว้ารางวัลอันดับที่ 2 ของโลกมาได้ในรายการ RoboCup@Home Open Platform League
2. หุ่นยนต์ไข่มุก: หุ่นยนต์Home Healthcare ที่มีการใช้งานหลากหลายด้าน TeleHealth หนึ่งในการใช้งานที่โชว์ในงานนี้คือ ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน สามารถทำกายภาพได้ตามคำแนะนำทางการแพทย์ได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเข้ามาที่โรงพยาบาล พร้อมเก็บและส่งต่อสถิติเพื่อให้คุณหมอและนักกายภาพสามารถดูพัฒนาการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ผ่านการใช้ขีดความสามารถของ 5G
3. หุ่นยนต์ Rehab : Universal Controller ด้วยลักษณะของแขนกลที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต อัมพฤกษ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถฝึกทำกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเก็บและส่งต่อสถิติบนโครงข่าย 5G เพื่อให้สามารถดูพัฒนาการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งแขนกลนี้จะช่วยลดภาระของนักกายภาพบำบัด ทำให้สามารถที่จะกายภาพคนไข้ได้ปริมาณจำนวนคนต่อวันที่เพิ่มขึ้น
4. Autonomous Shuttle Bus : รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กทปส. ที่ใช้ระบบ 5G เป็นตัวเชื่อมต่อ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยกับการทำงานของรถไร้คนขับ โดยคาดว่าปลายปีจะเริ่มนำไปวิ่งบนพื้นที่ถนนจริง
5. IntaniaVerse : คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ริเริ่มการทำเมตาเวิร์สเพื่อการศึกษา อาทิ โรงไฟฟ้า ณ เขื่อนท่าทุ่งนา การฝึกและบำบัดผู้สูงวัยด้วยแอปพลิเคชันโลกเสมือนจริง และรวมถึง AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE นอกจากนี้ มีหลักสูตรอบรมการสร้างโลกเมตาเวิร์สภายใต้โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning สำหรับบุคคลทั่วไป นิสิต นักศึกษา และหน่วยงานที่สนใจ โดย AIS ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ด้วย
การร่วมมือกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ AIS 5G ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชนชน ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของ Digital Transformation ที่จะพลิกโฉม Business Model ของทุกภาคส่วนให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Digital Disruption และการเกิดขึ้นของ COVID-19 ดังนั้น การทำงานร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อค้นคว้า วิจัย ทดลอง ทดสอบ จึงเป็นสิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญสูงสุดเสมอมา
ในอนาคตเทคโนโลยี 5G จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยประโยชน์ที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อของ IoT และ ทำให้เครือข่ายตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด ดังนั้น การสนับสนุนจาก AIS 5G จะช่วยให้นิสิต และ คณาจารย์ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อบภาคอุตสาหกรรมได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวคิดจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เรียกได้ว่าการร่วมมือและการเปิดตัว AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาไปยังทุกภาคส่วนของประเทศไทยในอนาคตก็ว่าได้