คุณสมบัติซอฟต์แวร์ที่พร้อมให้ใช้งานภายในปีนี้จะช่วยมอบเครื่องมือใหม่ๆ ทั้งในด้านการนำทาง ด้านสุขภาพ ด้านการติดต่อสื่อสาร และอีกมากมาย ให้แก่ผู้ใช้ที่เป็นผู้ทุพพลภาพ
วันนี้ Apple เผยตัวอย่างคุณสมบัติซอฟต์แวร์สุดล้ำที่ช่วยมอบแนวทางใหม่แก่ผู้ใช้ที่เป็นผู้ทุพพลภาพ เพื่อช่วยในการนำทาง ติดต่อสื่อสาร และทำให้ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ Apple ได้สูงสุด รายการอัปเดตที่ทรงประสิทธิภาพเหล่านี้ได้ผสานเทคโนโลยีล่าสุดของบริษัทเพื่อมอบเครื่องมือที่มีความเฉพาะตัวและปรับแต่งได้ให้แก่ผู้ใช้ และพัฒนาขึ้นภายใต้ความมุ่งมั่นอันยาวนานของ Apple ที่ต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้งานได้กับทุกคน
ด้วยความล้ำหน้าทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการเรียนรู้ของระบบ ผู้ที่ตาบอดหรือสายตาเลือนรางสามารถใช้ iPhone และ iPad เพื่อนำทางในช่วงที่ใกล้จะถึงสถานที่ปลายทางด้วยคุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” และสำหรับผู้ใช้ที่ทุพพลภาพทางร่างกายและการเคลื่อนไหวที่อาจต้องพึ่งพาคุณสมบัติความช่วยเหลือ เช่น คุณสมบัติ “การสั่งการด้วยเสียง” และ “การควบคุมสวิตช์” ก็สามารถควบคุม Apple Watch ได้ทุกส่วนผ่าน iPhone โดยใช้คุณสมบัติ “การสะท้อนหน้าจอ Apple Watch” และสำหรับกลุ่มผู้หูหนวกและได้ยินไม่ชัดก็สามารถติดตาม “คำบรรยายสด” ผ่านทาง iPhone, iPad และ Mac นอกจากนี้ Apple ยังขยายการรองรับ VoiceOver ซึ่งเป็นตัวอ่านหน้าจอชั้นแนวหน้าของอุตสาหกรรม ให้ทำงานได้กับภาษาและภูมิภาคใหม่ๆ อีกกว่า 20 รายการ โดยคุณสมบัติเหล่านี้จะพร้อมให้ใช้งานภายในปีนี้ผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Apple
“Apple ฝังรวมคุณสมบัติการช่วยการเข้าถึงเอาไว้ในทุกแง่มุมของการทำงาน และเรามุ่งมั่นในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน” Sarah Herrlinger ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายและการริเริ่มด้านการช่วยการเข้าถึง กล่าว “เรามีความยินดีอย่างมากที่ได้นำเสนอคุณสมบัติใหม่เหล่านี้ ซึ่งผสานนวัตกรรมและความสร้างสรรค์จากทีมต่างๆ ใน Apple เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือกมากขึ้นในการใช้ผลิตภัณฑ์ของเราในลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการและชีวิตของพวกเขามากที่สุด”
คุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” สำหรับผู้ใช้ที่ตาบอดหรือสายตาเลือนราง
Apple เตรียมที่จะเปิดตัวคุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” ซึ่งเป็นคุณสมบัติการนำทางสุดล้ำสำหรับผู้ใช้ที่ตาบอดหรือสายตาเลือนราง คุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” จะช่วยให้ผู้ใช้ที่ไปถึงสถานที่ปลายทางแห่งใหม่สามารถทราบตำแหน่งและระยะห่างของตนเองกับประตู และช่วยอธิบายลักษณะของประตู เช่น ประตูเปิดหรือปิดอยู่ และหากประตูปิดอยู่ ควรต้องผลักประตู หมุนลูกบิด หรือดึงมือจับประตู นอกจากนี้คุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” ยังสามารถอ่านป้ายและสัญลักษณ์ที่ติดอยู่บนประตู เช่น หมายเลขห้องในสำนักงาน หรือสัญลักษณ์ทางเข้าสำหรับรถเข็นผู้ทุพพลภาพ คุณสมบัติใหม่ดังกล่าวเป็นการผสานประสิทธิภาพของ LiDAR, กล้อง และการเรียนรู้ของระบบที่อยู่บนอุปกรณ์ โดยจะพร้อมใช้งานบน iPhone และ iPad รุ่นต่างๆ ที่มีสแกนเนอร์ LiDAR1
คุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” จะมีให้เลือกอยู่ใน “โหมดการตรวจจับ” ภายใน “แว่นขยาย” ซึ่งเป็นแอปที่มาพร้อมเครื่อง Apple ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ที่ตาบอดและสายตาเลือนราง ทั้งนี้คุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” พร้อมด้วย “การตรวจหาผู้คน” และ “คำอธิบายภาพ” สามารถใช้งานแยกอิสระหรือใช้งานพร้อมกันใน “โหมดการตรวจจับ” ก็ได้ ทำให้ผู้ใช้ที่ทุพพลภาพทางการมองเห็นมีเครื่องมือที่ปรับแต่งได้เอง เพื่อช่วยในการนำทางและการเข้าถึงคำอธิบายสิ่งรอบตัวอย่างละเอียด นอกจากเครื่องมือการนำทางที่มีอยู่ใน “แว่นขยาย” แล้ว ผู้ใช้ VoiceOver ที่ใช้งานแอปแผนที่ Apple ยังจะได้รับการตอบสนองด้วยเสียงและการสั่น เพื่อจะได้ทราบจุดเริ่มต้นของทิศทางการเดินอีกด้วย
คุณสมบัติ “การตรวจจับประตู” เป็นคุณสมบัติอันทรงประสิทธิภาพสำหรับผู้ใช้ที่ตาบอดหรือสายตาเลือนราง เพื่อช่วยนำทางในช่วงที่ใกล้จะถึงสถานที่ปลายทาง
ล้ำหน้าด้วยการช่วยการเข้าถึงทางร่างกายและการเคลื่อนไหวสำหรับ Apple Watch
Apple Watch เข้าถึงได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เคยสำหรับผู้ทุพพลภาพทางร่างกายและการเคลื่อนไหวด้วยคุณสมบัติ “การสะท้อนหน้าจอ Apple Watch” ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ควบคุม Apple Watch ได้จากระยะไกลผ่าน iPhone ที่จับคู่ไว้ คุณสมบัติ “การสะท้อนหน้าจอ Apple Watch” ทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุม Apple Watch โดยใช้คุณสมบัติความช่วยเหลือของ iPhone เช่น คุณสมบัติ “การสั่งการด้วยเสียง” และ “การควบคุมสวิตช์” และสามารถป้อนข้อมูลได้หลายวิธี เช่น การใช้คำสั่งเสียง การทำงานด้วยเสียง การติดตามศีรษะ หรือสวิตช์ภายนอก Made for iPhone เพื่อแทนการแตะจอภาพ Apple Watch ทั้งนี้คุณสมบัติ “การสะท้อนหน้าจอ Apple Watch” อาศัยการผสานรวมด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงความล้ำหน้าที่ต่อยอดบน AirPlay เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้ที่ต้องพึ่งพาคุณสมบัติด้านการเคลื่อนไหวจะได้รับประโยชน์จากแอปที่มีเฉพาะบน Apple Watch เช่น แอปออกซิเจนในเลือด แอปอัตราการเต้นของหัวใจ แอปทำสมาธิ และอีกมากมาย2
นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถใช้คำสั่งมือง่ายๆ เพื่อควบคุม Apple Watch ได้อีกด้วย โดยคุณสมบัติ “การทำงานอย่างเร็ว” แบบใหม่บน Apple Watch ทำให้สามารถใช้การหนีบนิ้วสองครั้งเพื่อรับสายหรือวางสายโทรศัพท์ ปิดการแจ้งเตือน ถ่ายภาพ เล่นหรือหยุดพักสื่อในแอปกำลังเล่นอยู่ หรือแม้แต่การเริ่ม หยุดพัก และออกกำลังกายต่อจากที่ค้างไว้ คุณสมบัติดังกล่าวพัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยีสุดล้ำที่ใช้ใน AssistiveTouch บน Apple Watch ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ที่มีแขนผิดรูปสามารถเลือกควบคุม Apple Watch ได้ด้วยการหนีบนิ้วหรือการกำมือ โดยไม่ต้องแตะจอภาพแต่อย่างใด
คุณสมบัติ “คำบรรยายสด” มีให้ใช้บน iPhone, iPad และ Mac เพื่อผู้ใช้ที่หูหนวกและได้ยินไม่ชัด
Apple เปิดตัวคุณสมบัติ “คำบรรยายสด” บน iPhone, iPad และ Mac สำหรับกลุ่มผู้หูหนวกและได้ยินไม่ชัด3 โดยผู้ใช้สามารถติดตามคอนเทนต์เสียงได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างการโทรหรือ FaceTime การใช้แอปการประชุมทางวิดีโอหรือโซเชียลมีเดียการสตรีมคอนเทนต์สื่อ หรือการสนทนากับบุคคลข้างๆ และยังสามารถปรับขนาดแบบอักษรให้อ่านง่ายได้ด้วย โดยคุณสมบัติ “คำบรรยายสด” ใน FaceTime จะช่วยถอดเสียงบทสนทนาให้เป็นข้อความโดยอัตโนมัติสำหรับผู้ร่วมสนทนา ดังนั้นวิดีโอคอลแบบกลุ่มจึงมีความสะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้ที่ทุพพลภาพทางการได้ยิน หากใช้คุณสมบัติ “คำบรรยายสด” ในการโทรผ่าน Mac ผู้ใช้ยังเลือกที่จะพิมพ์ตอบกลับและให้อ่านออกเสียงแบบเรียลไทม์แก่ผู้ที่ร่วมการสนทนาได้ด้วย และเนื่องจากคุณสมบัติ “คำบรรยายสด” สร้างขึ้นบนอุปกรณ์ ดังกล่าว
คุณสมบัติ “คำบรรยายสด” บน iPhone, iPad และ Mac ทำให้สามารถติดตามคอนเทนต์เสียงทุกรูปแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น
VoiceOver ที่รองรับภาษาใหม่และเพิ่มความสามารถอีกมากมาย
VoiceOver ของ Apple ซึ่งเป็นตัวอ่านหน้าจอชั้นแนวหน้าของอุตสาหกรรมสำหรับผู้ที่ตาบอดและสายตาเลือนราง พร้อมรองรับภาษาและภูมิภาคเพิ่มเติมอีกมากกว่า 20 รายการ อาทิ เบงกาลี บัลกาเรีย คาตาลัน ยูเครน และเวียดนาม4 ผู้ใช้ยังสามารถเลือกเสียงใหม่ได้อีกนับสิบรายการ ซึ่งปรับแต่งอย่างดีที่สุดเพื่อใช้กับคุณสมบัติความช่วยเหลือในภาษาต่างๆ โดยทั้งภาษา ภูมิภาค และเสียงเหล่านี้ยังสามารถใช้กับคุณสมบัติการช่วยการเข้าถึงอย่างคุณสมบัติ “อ่านออกเสียงสิ่งที่เลือก” และ “อ่านหน้าจอ” ได้อีกด้วย นอกจากนี้ผู้ใช้ VoiceOver บน Mac ยังสามารถใช้เครื่องมือ “ตัวตรวจสอบข้อความ” แบบใหม่เพื่อตรวจสอบปัญหาการจัดรูปแบบที่พบบ่อย เช่น การเว้นวรรคซ้ำหรือตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ที่อยู่ผิดตำแหน่ง ซึ่งทำให้การอ่านทวนเอกสารและอีเมลทำได้ง่ายกว่าเดิม
อีกหลายคุณสมบัติที่น่าสนใจ
- คุณสมบัติ “อุปกรณ์ควบคุมของคู่หู” ทำให้ผู้ใช้สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลหรือเพื่อนให้ช่วยเล่นเกมด้วยกัน โดยคุณสมบัติ “อุปกรณ์ควบคุมของคู่หู” จะรวมอุปกรณ์ควบคุมเกม 2 ชิ้นให้เป็นหนึ่งเดียว จึงสามารถใช้อุปกรณ์ควบคุมหลายชิ้นเพื่อควบคุมการสั่งงานให้กับผู้เล่นรายเดียวกันได้
- คุณสมบัติ “เวลาหยุดพักของ Siri” ทำให้ผู้ใช้ที่ทุพพลภาพทางการพูดสามารถปรับช่วงเวลาที่ Siri รอคอยก่อนที่จะตอบกลับคำขอ
- โหมดการสะกดแบบการสั่งการด้วยเสียงช่วยมอบทางเลือกในการป้อนตัวสะกดที่มีลักษณะเฉพาะโดยใช้การบอกทีละตัวอักษร5
- คุณสมบัติ “การจำเสียง” สามารถปรับแต่งให้จดจำเสียงที่มีลักษณะเฉพาะต่อสภาพแวดล้อมของบุคคลหนึ่งๆ ได้ เช่น เสียงเตือน เสียงกริ่ง หรือเสียงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะ
- แอป Apple Books จะมีธีมใหม่และมาพร้อมตัวเลือกในการปรับแต่งเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ด้านการอ่านที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น การทำตัวหนาให้ข้อความ และการปรับระยะบรรทัด อักขระ และคำ
เฉลิมฉลองวันรณรงค์การช่วยการเข้าถึงโลก
สัปดาห์นี้ Apple จัดการเฉลิมฉลองวันรณรงค์การช่วยการเข้าถึงโลกด้วยเซสชั่นพิเศษ คอลเลกชั่นที่คัดสรรมาแล้ว และอีกมากมาย ได้แก่
- SignTime จะเปิดตัวในแคนาดาในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เพื่อเชื่อมต่อลูกค้า Apple Store และลูกค้าฝ่ายบริการช่วยเหลือของ Apple เข้ากับล่ามภาษามืออเมริกัน (ASL) แบบออนดีมานด์ โดยปัจจุบัน SignTime มีให้บริการแล้วสำหรับลูกค้าในสหรัฐอเมริกาโดยใช้ภาษามืออเมริกัน (ASL), สหราชอาณาจักรโดยใช้ภาษามืออังกฤษ (BSL) และฝรั่งเศสโดยใช้ภาษามือฝรั่งเศส (LSF)
- ร้าน Apple Store ทั่วโลกพร้อมจัดเซสชั่นสดตลอดสัปดาห์ เพื่อช่วยแนะนำให้ลูกค้าได้รู้จักกับคุณสมบัติ “การช่วยการเข้าถึง” บน iPhone และช่องทางโซเชียลของบริการช่วยเหลือของ Apple ก็พร้อมนำเสนอคอนเทนต์วิธีใช้งานในเรื่องต่างๆ
- ปุ่มลัดผู้ช่วยด้านการช่วยการเข้าถึงกำลังจะมีให้ใช้ในแอปคำสั่งลัดบน Mac และ Apple Watch ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อช่วยแนะนำคุณสมบัติ “การช่วยการเข้าถึง” ตามความชอบส่วนตัวของผู้ใช้
- Apple Fitness+ ในสัปดาห์นี้มาพร้อม Bakari Williams ซึ่งเป็นครูฝึกที่จะใช้ ASL เพื่อไฮไลท์คุณสมบัติต่างๆ ที่มีให้กับผู้ใช้อันถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ฟิตเนสเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยมี “คำอธิบายเสียง” ซึ่งเป็นคำพูดอธิบายสั้นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ที่ตาบอดและสายตาเลือนราง อีกทั้งยังเปลี่ยนชื่อตอนจาก “ถึงเวลาเดิน” และ “ถึงเวลาวิ่ง” ให้กลายเป็น “ถึงเวลาเดินหรือปั่นล้อ” และ “ถึงเวลาวิ่งหรือปั่นล้อ” สำหรับผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ด้วย นอกจากนี้ครูฝึกของ Fitness+ ยังจะใช้ ASL ในการออกกำลังกายและการทำสมาธิทุกรายการ วิดีโอทุกเรื่องจะมีคำบรรยายภาพให้เลือก 6 ภาษา และครูฝึกยังจะสาธิตการดัดแปลงการออกกำลังกายแต่ละรายการเพื่อให้ผู้ใช้ที่มีศักยภาพต่างกันสามารถร่วมกิจกรรมไปด้วยกัน
- แอปแผนที่ Apple มาพร้อมคู่มือฉบับใหม่ที่ชื่อว่า Park Access for All จาก National Park Foundation ที่ช่วยแนะนำคุณสมบัติ โปรแกรม และบริการที่เข้าถึงได้ง่ายแก่ผู้ใช้ เพื่อการสำรวจอุทยานทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา และยังมีคู่มือจากมหาวิทยาลัย Gallaudet ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกสำหรับนักเรียนหูหนวก หูตึง และหูหนวกตาบอด ซึ่งมีข้อมูลของธุรกิจและองค์กรต่างๆ ที่เห็นคุณค่า เปิดรับ และให้ความสำคัญต่อชุมชนคนหูหนวกและการใช้ภาษามือ
- ผู้ใช้สามารถสำรวจแอปที่ให้ความสำคัญกับการช่วยการเข้าถึงและเรื่องราวอันทรงพลังจากผู้สร้างสรรค์แอปใน App Store และสำรวจคอลเลกชั่น Transforming Our World ใน Apple Books และอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ทุพพลภาพและที่แนะนำโดยผู้ทุพพลภาพ ตลอดจนเรียนรู้วิธีอันสร้างสรรค์ที่เทคโนโลยีได้ช่วยขับเคลื่อนการช่วยการเข้าถึงให้ล้ำหน้ายิ่งขึ้นใน Apple Podcasts
- Apple Music จะนำเสนอเพลย์ลิสต์ Saylists ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นของเพลย์ลิสต์ที่เน้นเสียงที่แตกต่างกันในแต่ละรายการ โดยสามารถเลือกรายการและมีส่วนร่วมในการร้องตามได้อย่างสนุกสนานเพื่อฝึกฝนเสียงร้องหรือแก้ไขการพูด
- แอป Apple TV จะนำเสนอภาพยนตร์และรายการสุดฮิตล่าสุดซึ่งถ่ายทอดเนื้อหาโดยแท้เกี่ยวกับผู้ทุพพลภาพ อีกทั้งผู้ชมยังจะได้ร่วมสำรวจคอลเลกชั่นที่เลือกสรรโดยแขกรับเชิญจากนักแสดงที่มีผลงานโดดเด่นในชุมชนด้านการช่วยการเข้าถึง อาทิ Marlee Matlin (“CODA”), Lauren Ridloff (“Eternals”), Selma Blair (“Introducing, Selma Blair”), Ali Stroker (“Christmas Ever After”) และอีกมากมาย