“Safer Internet Day” หรือ วันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากล ถูกกำหนดขึ้นมาโดยยึดถือ“วันอังคารที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์” ของปี สำหรับปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญทางด้านความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีในชุมชนออนไลน์ อย่างมีความรับผิดชอบและเป็นประโยชน์ต่อสังคม แน่นอนว่า การงานอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์มหาศาลแต่ก็มีภัยคุกคามในโลกออนไลน์จากผู้ไม่หวังดีภารกิจของนักสู้ต่อภัยที่แฝงมากับอินเทอร์เน็ตจึงเกิดขึ้น เพื่อให้เด็กไทยปลอดภัย และพวกเขาต่อสู้อย่างหนักในทุกวันของแต่ละปี
ดีแทคมีจุดยืนในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องกันตนเองของเยาวชนจากความเสี่ยงในโลกออนไลน์ตลอดมาไม่ว่าจะเป็นโครงการ Young Safe Internet Leader Camp ที่จัดติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ภาคการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลแก่เด็กและเยาวชนในอนาคต หรือ Crowdsourcing ระดมไอเดียแก้ปัญหา Cyberbullying เป็นต้น และล่าสุดเรียกร้องสังคมร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ ผ่าน “สัญญาใจ” #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ
ฟังความคิดสะท้อนความห่วงใยกับ 5 นักสู้เพื่อเยาวชนปลอดภัยในโลกออนไลน์กับดีแทค
พ.ต.อ มรกต แสงสระคู ผู้พิทักษ์หัวใจดวงน้อย ที่คอยดูแลเด็กที่มีตราบาปในหัวใจจากการถูกย่ำยีของผู้ใหญ่ และการถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็กผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งร่วมเป็นวิทยากรในห้องเรียนเด็กล้ำวิชา Online Privacy & Sexual Abuse ของ dtac Safe Internet มองว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยเหมือนกับการให้ภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีน ผ่าน Digital Literacy ทั้งตัวเด็กเอง ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องรู้ให้เท่าทันแอป หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มีคนช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่อง การเคารพสิทธิ ให้เกียรติความเป็นมนุษย์ ไม่แชร์ภาพลามก แม้ในกลุ่มปิด
การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ต้องคำนึงถึงการวางนโยบายที่มีกฎหมายครอบคลุม เพื่อให้มี “เกราะปกป้องเด็ก” จากภยันตรายของนักล่าเหล่านี้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดเรื่องขึ้นแล้วค่อยมาเยียวยาบรรเทา หัวใจเด็กก็เหมือนผ้าขาว ถ้าถูกทำให้เลอะ สุดท้ายถึงแม้จะซักอย่างไร ผ้าขาวก็ยังทิ้งรอยด่างพร้อยไว้อยู่
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มองว่า “ต้องสร้างพื้นที่สีขาวบนโลกออนไลน์ สู่ความเท่าทันดิจิทัลภัยออนไลน์ที่มีต่อเยาวชน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบของเทคโนโลยี การล่อลวงจากการแชท มาจนถึงยุคไลฟ์สตรีม การโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสม เดิมทำผ่านเวบโฮสติ้งและซ่อนตัวผ่านดาร์คเว็ป สู่การทำไดนามิค ตั้งเซิร์ฟเวอร์เอง ตั้งกลุ่มเฉพาะ ไปจนถึงทำผ่านคลาวด์ ยิ่งทำให้ยากต่อการสืบเสาะหรือตามรอย ขณะที่การป้องกันให้ความรู้ การสื่อสารสาธารณะทำได้แค่ระดับพันคน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย สามารถจับผู้ทำผิดได้หลายร้อยคดี”
นอกจากนี้ ควรมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดประสิทธิผล และเน้นการทำงาน “เชิงป้องกัน” ที่เป็นเชิงรุก ช่วยสอดส่องหรือลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงผู้ให้บริการมือถือและโฮสติ้ง
“ที่ผ่านมาได้ใกล้ชิดกับโครงการ dtac Safe Internet ก็เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อน ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มระดับโลก ก็จะให้ความสำคัญกับเด็ก ที่มีนโยบายการให้บริการที่รับผิดชอบต่อสังคม มีคอมมูนิตี้สแตนดาร์ดที่จะช่วยสร้างโลกปลอดภัยอินเทอร์เน็ต รวมถึงภารกิจด้านสุขภาวะอินเทอร์เน็ต” ดร.ศรีดา กล่าว
ชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้ให้กำเนิดสามสหาย-แชทบอทเพื่อเด็กไทย มองในเรื่อง “Safer Internet Day” หรือ วันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากล ด้วยการที่ต้องประคับประคองและเยียวยาให้เด็กได้เรียนรู้และใช้ชีวิตในโลกใบนี้ได้อย่างมั่นคงและมีจิตใจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และการนำแชทบอทที่เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงเด็กที่คอยประคับประคองและเยียวยาให้เด็กได้เรียนรู้และใช้ชีวิตในโลกใบนี้ได้อย่างมั่นคงและมีจิตใจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นมาใช้งาน โดยมองว่าน่าจะนำมาช่วยสร้างผลกระทบในสังคมและเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาในเด็กและเยาวชนได้ โดยได้พัฒนาแชทบอทออกมาสามตัวได้กัน ได้แก่
• ไม่ขำ: ตอบปัญหาด้านไซเบอร์บูลลี่
• ใจดี: บอทรุ่นพี่ เป็นเพื่อนที่น่ารักของน้องๆ ทุกช่วงวัย เป็นเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างในทุกช่วงเวลา
• My Sis: แชทบอทให้คำปรึกษาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
นอกจากนี้แชทบอทจะช่วยให้เด็กขี้อายที่ไม่รู้จะแชร์เรื่องราวกับใคร หรือไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ก็สามารถเข้ามาพิมพ์ปัญหาที่ตนเองเผชิญ ซึ่งเป็นชุดคำถามที่เด็กๆ มักจะถามซ้ำๆ กัน และบอทจะเป็นเพื่อนที่ให้ชุดคำตอบแนวทางเป็น ไอเดีย ให้นำไปประยุกต์ใช้กับตนเองได้ นอกจากนี้ยังได้ประเมินให้ผู้ใช้ตอบแบบสอบถาม โดยมีผู้ใช้งานทั้งสามแชทบอทหลายหมื่นคนและ 70-80% ระบุว่า มีประโยชน์พอสมควรถึงมีประโยชน์มาก
ชิตพงษ์ เล่าให้ฟังว่า “ครั้งหนึ่งได้ไปแนะนำแชทบอทในโรงเรียนห่างไกล เด็กคนนึงร้องไห้หลังจากใช้งาน “ไม่ขำ” ครูเล่าให้เขาฟังว่าเด็กหญิงคนนั้นถูกบูลลี่จากเด็กชายในห้องและน้องไม่มีทางออก ข้อมูลจากแชทบอททำให้น้องคลายทุกข์ และครูเองก็ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์และวิธีการแก้ไขปัญหาได้”
ทางด้าน นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ในนามเสื้อกาวน์ผู้พิทักษ์เยาวชนไทยมองว่า ความปลอดภัยในเด็ก มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งสัมพันธ์ไปตามสุขภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “ผมมองว่า ในอนาคตที่เมตาเวิร์สกำลังเข้ามา ยิ่งสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า ถึงแม้จะไม่ใช่การสัมผัสทางกายภาพ แต่ก็สร้างผลต่อกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ยิ่งเห็นภาพและเสียงที่คมชัด ยิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่อสิ่งเร้า ส่งผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ
สำหรับกระแสการตื่นตัวในเรื่อง Cyberbully ทำให้สิ่งที่อยากให้เห็นต่อไปในอนาคต คือผู้ออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการด้านเทคโนโลยี ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาวะต่อร่างกายและจิตใจของเยาวชนด้วย หากจะคิดหรือผลิตอะไรออกมาใช้หรือให้บริการ ควรคำนึงประเด็นทางสังคม ไม่ใช่มองแค่แต่ผลกำไรหรือการสร้างยอดขายอย่างรวดเร็วจนเกินไป
จารุวรรณ พวงผกา นักกิจกรรมทางสังคม เชื่อมโลกออนไลน์แบบปลอดภัย มองว่าความปลอดภัยของการใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเด็กที่เคยคิดว่าตัวเองเป็น “เหยื่อ” สู่ “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในโลกออนไลน์” พัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นตัว “ขับเคลื่อน” การทำงานในทุกๆ วันของเธอ และสุดท้ายเธอได้ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “อยากเห็นวัฒนธรรมที่ดีในโลกออนไลน์ มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และการมีมารยาทในสังคมไซเบอร์ เฉกเช่นที่พึงมีในโลกชีวิตจริง”
เธอยังเป็นผู้จัดการโครงการ dtac safe internet และมุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียมด้านดิจิทัล (Digital Inclusion) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ของประเทศ และตลอดสามปีที่ผ่านมาได้จุดประกายการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในด้านไซเบอร์บูลลี่ จนทุกวันนี้ กลายเป็นเรื่องแพร่หลายที่ทุกคนให้ความสำคัญ
สำหรับปีนี้เนื้อหาจะมุ่งเน้นที่ “ไซเบอร์ เซคเคียวริตี้” ทั้งด้านแฮคเกอร์ การปกป้องข้อมูล การหลอกลวงการฉ้อโกงทางไซเบอร์ และการกดขี่ทางเพศ (virtual abuse) การให้ความรู้รูปแบบใหม่ๆ ที่นักล่าจะใช้ล่อเหยื่อ ให้มาติดกับใน “ถนนสู่ดวงดาว” เพื่อหลอกล่อว่าจะได้เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ หรือ ดารา โดยดึงเด็กมาแชร์ข้อมูล แล้วทำอนาจารข่มขู่ ต่างๆ ทั้งหมดล้วนเป็นภัยที่เพิ่มขึ้น และใกล้ตัวเข้ามาทุกที
นอกจากนั้น #dtacSafeInternet ในฐานะผู้บุกเบิก (pioneering brand) ที่เปิดประเด็นด้านไซเบอร์บูลลี่มากว่า 5 ปี ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ต่อปัญหา งานพัฒนาศักยภาพบุคลากร งานผลักดันนโยบายสาธารณะ งานสื่อสารสาธารณะและวิจัย ตลอดจนการหาทางออกและพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business) ของดีแทค