Nintendo เริ่มวางจำหน่ายคอนโซล Nintendo Switch OLED อย่างทางการแล้ว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากเปิดตัวรุ่นแรกในเดือนมีราคม 2017 ช่วงเวลาที่ห่างกันมากกว่า 4 ปี Nintendo Switch OLED จะมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง? ทีมงาน @Flashfly พร้อมรีวิวให้ชมแล้ว
แกะกล่อง Nintendo Switch OLED
กล่องบรรจุภัณฑ์ของ Nintendo Switch OLED ออกแบบมาในแนวตั้ง แตกต่างจากรุ่นก่อนที่เป็นแนวนอน แต่ยังคงยืนพื้นด้วยสีแดงเหมือนกัน หน้ากล่องพิมพ์รูปภาพคอนโซลตามสีที่เลือกซื้อ ซึ่งทีมงาน @Flashfly ได้รับสีขาวมารีวิว อีกตัวเลือกเป็นสี Neon Blue/Red ใต้รูปภาพระบุชื่อรุ่น OLED Model
ข้างกล่องบอกจุดเด่นของรุ่น OLED Model ได้แก่ จอแสดงผล OLED ขนาด 7 นิ้ว มาพร้อมความจุในตัว 64GB, Dock รองรับสาย LAN และ ขาตั้งแบบใหม่ที่ปรับการเอียงได้ ส่วนอีกข้างของกล่องมีเพียงโลโก้ Nintendo Switch
หลังกล่องพิมพ์รูปภาพที่แสดงให้เห็นดีไซน์ของ Nintendo Switch OLED ในโหมดการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Tabletop Mode, TV Mode และ Handheld Mode
ด้านบนของกล่องจะพบโลโก้ Nintendo ใต้กล่องให้รายละเอียดว่าภายในกล่องจะพบกับอุปกรณ์อะไรบ้าง และสามารถเปิดฝากล่องออกได้จากข้างใต้นี่เอง
เมื่อเปิดฝากล่องขึ้นมาจะพบกับ Joy-Con ทั้ง 2 ข้าง และตัวคอนโซลเป็นอย่างแรก โดยทั้งหมดถูกเก็บไว้ในซองพลาสติกอย่างเรียบร้อย
หลังจากยกถาดรองคอนโซลกับ Joy-Con ออกไป จะพบกับช่องเก็บสาย HDMI, Joy‑Con Grip และ Joy‑Con Wrist Straps
ช่องข้างกันเป็นที่เก็บอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่ AC Adapter แบบ USB-C และสุดท้ายเป็น Nintendo Switch Dock ถูกแยกเก็บไว้ในช่องใหญ่
ดีไซน์ตัวเครื่อง
ดีไซน์โดยรวมของ Nintendo Switch OLED ยังดูคล้ายกับรุ่นก่อน ถึงแม้จะมีการขยายขนาดจอแสดงผลให้ใหญ่ขึ้นเป็น 7 นิ้ว จากรุ่นแรกที่มีขนาด 6.2 นิ้ว แต่ขนาดบอดี้ของคอนโซลแทบไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบใหม่ให้มีขอบจอรอบด้านที่บางลง ทำให้สามารถติดตั้งจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น แต่ยังคงรักษาขนาดบอดี้ไว้เท่าเดิม
Nintendo Switch OLED มีขนาดรวม Joy‑Con อยู่ที่ 102 x 242 x 13.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 420 กรัม ส่วน Nintendo Switch รุ่นแรก มีขนาดรวม Joy‑Con อยู่ที่ 102 x 239 x 13.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 398 กรัม จะเห็นได้ว่าทั้งคู่มีขนาดใกล้เคียงกันมาก ส่วนน้ำหนักรุ่น OLED เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยประมาณ 22 กรัม ซึ่งแทบไม่มีผลกระทบอะไรเมื่อเล่นเกมในโหมด Handheld
ด้านบนคอนโซล Nintendo Switch OLED จะพบกับปุ่มเพาเวอร์, ปุ่มปรับระดับเสียง, ช่องระบายอากาศ, ช่องเสียบหูฟัง และ ช่องใส่ตลับเกม
ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง สำหรับเชื่อมต่อกับ Joy‑Con ทั้ง 2 ข้าง สำหรับเล่นเกมในโหมด Handheld สำหรับใครที่เคยซื้อรุ่นแรกไปแล้ว สามารถนำ Joy‑Con ของเดิมมาใส่กับรุ่น OLED ได้
ด้านหลังของรุ่น OLED มีความแตกต่างจากรุ่นก่อนอย่างชัดเจน เพราะพื้นที่เกือบครึ่งถูกใช้เป็นขาตั้ง ทำให้มีความแข็งแรงกว่าขาตั้งของรุ่นแรก อีกทั้งยังสามารถปรับการวางได้หลายระดับ ให้องศาที่เหมาะสมกับระดับสายตาได้ดีกว่า
ช่องเสียบการ์ด MicroSD ที่เคยอยู่ด้านล่าง ก็ย้ายมาที่ด้านหลัง (ต้องกางขาตั้งขึ้นก่อน)
ส่วนด้านล่างของคอนโซลมีลำโพงคู่ และตรงกลางเป็นพอร์ต USB-C สำหรับเชื่อมต่อกับ Dock หรือชาร์จแบตเตอรี่ให้กับคอนโซล
สำหรับ Dock ของ Nintendo Switch OLED ใช้สีขาวเหมือนกับ Joy‑Con (ยกเว้นว่าจะซื้อสี Neon Blue/Red จะได้รับ Dock สีดำ) ได้รับการออกแบบใหม่ มีขอบมุมโค้งมนมากขึ้น และทำช่องให้ใหญ่ขึ้น รองรับคอนโซลที่อาจมีการติดฟิล์มป้องกันรอย ซึ่งอาจทำให้ตัวเครื่องมีความหนากว่าปกติ
ด้านข้างมีช่องต่อ USB มาให้ 2 ช่อง
ด้านหลังจะมีหน้ากากที่แกะออกได้ง่าย เพื่อเข้าถึงช่องเสียบสายไฟ AC Adapter, ช่องต่อสาย HDMI และ ช่องต่อสาย LAN ช่วยให้การเล่นเกมรูปแบบออนไลน์มีความเสถียรมากขึ้น เมื่อเทียบกับการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณ Wi-Fi
จอแสดงผล OLED ขนาด 7 นิ้ว
จุดเด่นของ Nintendo Switch OLED อยู่ที่ชื่อรุ่นนี่เอง เพราะมีการเปลี่ยนจากจอ LCD มาเป็น OLED ที่ให้ความสว่างและคมชัดมากขึ้น อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าเดิมจาก 6.2 นิ้ว เป็น 7 นิ้ว แต่ยังมีขนาดตัวเครื่องใกล้เคียงกับรุ่นก่อนอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบให้มีพื้นที่ขอบจอรอบด้านที่บางลงกว่าเดิม
ด้วยจอแสดงผล OLED ทำให้ Nintendo Switch รุ่นใหม่ล่าสุด รองรับการเล่นเกมในโหมดพกพา หรือ Handheld Mode ได้สนุกขึ้น เพราะหน้าจอสามารถสู้แสงแดดได้ดีกว่ารุ่นก่อน และยังมีขนาดใหญ่กว่า ทำให้มองเห็นรายละเอียดในเกมได้ดีขึ้น
ประสิทธิภาพ
นอกจากจอแสดงผล Nintendo Switch OLED ยังไม่ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยยังใช้โปรเซสเซอร์ Nvidia Tegra X1 ความจำ RAM 4GB (LPDDR4) เท่าเดิม แต่เพิ่มความจุในตัวเป็น 2 เท่า จาก 32GB เป็น 64GB ดังนั้น ความลื่นไหลของเกมยังไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับรุ่นก่อน โดยเฉพาะเมื่อเล่นผ่าน TV
สำหรับอายุการใช้งานแบตเตอรี่ เมื่อเล่นในโหมด Handheld อยู่ที่ประมาณ 4.5 – 9 ชั่วโมง (เล่นเกม The Legend of Zelda: Breath of the Wild ได้นานต่อเนื่องประมาณ 5.5 ชั่วโมง) ซึ่งก็นานพอๆ กับ Nintendo Switch รุ่นแรก
ประสบการณ์การใช้งาน
ถึงแม้ Nintendo Switch OLED ยังไม่มีการปรับปรุงด้านประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ภายใน แต่ด้วยการออกแบบขาตั้งใหม่ ก็ทำให้การเล่นเกมในโหมด Tabletop ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากขาตั้งมีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้วางคอนโซลได้อย่างมั่นคง และยังสามารถปรับองศาของขาตั้งได้หลายระดับ ทำให้ปรับมุมมองการเอียงของหน้าจอได้เหมาะสมกับความสูงของผู้เล่น ขณะที่จอแสดงผล OLED ก็ช่วยให้การเล่นเกมในโหมด Handheld ได้ดีขึ้น ด้วยความสว่าง ความคมชัด และขนาดใหญ่กว่าเดิม
สรุปราคาและการวางจำหน่าย
Nintendo Switch OLED ไม่ได้ถูกสร้างมา เพื่อแทนที่ Nintendo Switch รุ่นแรก แต่ถูกวางตำแหน่งให้สูงกว่าเล็กน้อย ด้วยการปรับปรุงจอแสดงผล การออกแบบขาตั้ง ส่วน Dock ก็สามารถต่อสาย LAN ได้ จึงเหมาะสำหรับใครก็ตามที่กำลังตัดสินใจซื้อคอนโซลในระบบ Switch โดยที่เน้นการใช้งานในโหมด Handheld ด้วย จะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดเมื่อเลือกซื้อรุ่น OLED แต่ถ้าเน้นเล่นเกมผ่านการเชื่อมต่อกับจอทีวี Nintendo Switch รุ่นแรก จะช่วยให้ประหยัดเงินได้มากกว่า
ทั้งนี้ Nintendo Switch OLED เริ่มวางจำหน่ายแล้ว โดยในประเทศไทยสามารถจับจองได้ในราคา 16,990 บาท ซึ่งถือได้ว่าราคายังค่อนข้างแรงทีเดียวสามารถซื้อ Nintedo Switch รุ่นเก่าพร้อม Nintendo Switch Lite ได้สบายๆ แต่ถ้าใครที่ซื้อมาตั้งแต่รุ่นแรก ไม่ใช่รุ่นกล่องแดงก็แนะนำว่าคุ้มค่าในการเป็นเจ้าของอย่างมาก หรือใครอยากเล่นจอใหญ่สีสดๆก็ห้ามพลาดโดยเด็ดขาด