“สตีฟ จ็อบส์” ถือเป็นสุดยอดผู้นำที่ปฏิวัติโลกด้วยนวัตกรรมไอที แต่ “ทิม คุก” ซีอีโอคนปัจจุบัน ก็มีผลงานเข้าตา โดยเฉพาะ 5 เรื่องที่อาจโดดเด่น
ไม่มีใครปฏิเสธความอัจฉริยะของ “สตีฟ จ็อบส์” ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักร “แอปเปิล” ซึ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และแม้ “ทิม คุก” ซีอีโอคนปัจจุบันที่มารับไม้ต่อ จะไม่สามารถเลียนแบบความสามารถขั้นเทพของจ็อบส์ โดยเฉพาะการนำเสนอที่มีสไตล์เฉพาะตัว แต่ภายใต้การคุมหางเสือของทิม คุก ในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาทำได้ดีกว่า
ถึงแม้จะยังมีหลายเรื่องที่ติดขัดในช่วงขวบปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็น “สิริ” ลูกเล่นใหม่บนไอโฟนที่สั่งการด้วยเสียง ซึ่งยังคงเป็นโหมดเบต้า หรือทดลองใช้ ทั้งที่หลายคนคาดหวังว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ หรือกรณีรายงานข่าวของนิวยอร์ก ไทม์ส ที่ตั้งข้อสังเกตว่า แอปเปิลใช้กลเกมภาษีเพื่อให้จ่ายน้อยที่สุด แต่ภายใต้ยุคของทิม คุก เขายังคงรักษาโมเมนตัมของบริษัทได้ดี และมี 5 เรื่องที่ทำได้โดดเด่นกว่าสตีฟ จ็อบส์ ในมุมมองของฮัฟฟิงตัน โพสต์
เรื่องแรก เดินทางไปตรวจโรงงานผลิตในจีน
ทิม คุก เดินทางไปจีน ที่จริงแล้วแอปเปิลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมานานแล้ว เกี่ยวกับสภาพที่ย่ำแย่ในโรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์ในจีน แต่ปีนี้ทิม คุก แสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ โดยหลังจากถูกแฉถึงต้นทุนมนุษย์ราคาถูก เขาเดินทางไปตรวจโรงงานผลิตในจีน ในขณะที่จ็อบส์ไม่เคยย่างกรายไปดูสภาพโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้แอปเปิล
นอกจากนี้ ทิม คุก ยังขอให้สมาคมแรงงานเข้าไปตรวจสอบอย่างอิสระ ทั้งโรงงานของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ และโรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ
เรื่องที่ 2 ลูกน้องมีความสุขที่ได้ทำงานกับทิม คุก มากกว่าจ็อบส์
บิ๊กบอสคนใหม่ไม่ทำให้ชีวิตของพนักงานยุ่งยาก แม้ว่าจะไม่สามารถกล่าวแทนพนักงานร่วม 60,000 คนได้ แต่มีดัชนีบางตัวที่สะท้อนว่าลูกน้องอาจมีความสุขที่ได้ทำงานกับทิม คุก มากกว่ายุคของจ็อบส์ จากข้อมูลของอัดม ลาชินสกี้ ในนิตยสารฟอร์จูน ระบุว่า จิตวิญญาณในการประชุมผู้บริหารรื่นเริงและสนุกมากขึ้น แตกต่างจากบรรยากาศเคร่งขรึมและเกรงกลัวในยุคก่อน รวมถึงหนังสือชีวประวัติของจ็อบส์ที่เขียนโดยวอลเตอร์ ไอแซคสัน ก็มีหลายตอนที่ระบุว่า จ็อบส์ตำหนิพนักงานที่ขาดความสามารถ ซึ่งแตกต่างกับคุกที่แสดงออกเรื่องนี้สุขุมกว่า
เรื่องที่ 3 บริจาคเพื่อการกุศล
ทิม คุก ไม่ขี้เหนียว ถึงแม้จ็อบส์จะสร้างสรรค์ผลงานไว้มากมาย แต่ไม่มีเรื่องของบริจาคเพื่อการกุศล โดยส่วนตัวเขาไม่เคยมีข่าวปรากฏเกี่ยวกับการบริจาคเงินให้การกุศล หรือแม้แต่ในนามบริษัท ทั้งที่แอปเปิลมีเงินสดมากมายในระยะหลัง
ครั้นเมื่อทิม คุก เข้ามากุมบังเหียนแอปเปิล เขาริเริ่มโครงการบริจาคเงินแบบจับคู่กับพนักงาน โดยบริษัทจะร่วมบริจาคเงินเป็นจำนวนเท่ากับที่พนักงานให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร สูงสุดไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่แอปเปิลมีโครงการลักษณะนี้ ขณะที่บริษัทอเมริกันอื่นๆ ดำเนินการมานานแล้ว และแอปเปิลบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลสแตนฟอร์ดถึง 50 ล้านดอลลาร์
เรื่องที่ 4 ยอมแบ่งปันเงินสดบางส่วนให้ผู้ถือหุ้น
ซีอีโอคนล่าสุดยอมแบ่งปันเงินสดบางส่วนในหีบสมบัติให้ผู้ถือหุ้น ในขณะที่จ็อบส์ไม่ได้นำเงินสดที่มีมากมายออกมาจ่ายในรูปเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นหรือซื้อคืนหุ้นมาเป็นเวลานานหลายปี คุกกลับทำเรื่องนี้ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แอปเปิลประกาศจ่ายปันผลเป็นประจำทุกไตรมาส หุ้นละ 2.65 ดอลลาร์ และซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุน นี่สะท้อนว่าคุกต้องการตอบแทนนักลงทุนรายใหญ่และเล็กที่ยังคงลงทุนกับบริษัทมาตลอดหลายปี
เรื่องที่ 5 คุกทำให้แอปเปิลรวยขึ้น 77%
นายใหญ่แอปเปิลคนปัจจุบันยังรักษาโมเมนตัมทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คุกทำให้แอปเปิลรวยขึ้น 77% โดยในวันแรกที่เขามารับตำแหน่งนายใหญ่ ราคาหุ้นแอปเปิลซื้อขายอยู่ที่ 376 ดอลลาร์ แต่เมื่อถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม ราคาหุ้นซื้อขายอยู่ที่ระดับ 667 ดอลลาร์ เติมความมั่งคั่งได้ประมาณ 3.53 แสนล้านดอลลาร์ แน่นอนว่าจ็อบส์ควรได้รับเครดิตไปเต็มๆ จากการทำให้แอปเปิลอยู่ในวงจรขาขึ้น แต่ทิม คุก ก็ต่อยอดจากจุดนั้นให้สูงขึ้น
ที่มา – bangkokbiznews