โนเกียชู “ลูเมีย 920” นำร่องวินโดว์สโฟน8 หวังชนซัมซุง-เอชทีซี ไม่หวั่นคู่แข่งเตรียมเปิดขายช่วงเดียวกัน ระบุมีแอพพลิเคชั่นเฉพาะตัว คอนเทนท์เอ็กซ์คลูซีพ มั่นใจชิงความได้เปรียบจากลูกค้าได้ เผยภาพรวมตลาดมือถือไทย สมาร์ทโฟนกินแชร์ด้านมูลค่ากว่า 75% ลั่นหากส่งลูเมียตัวใหม่ลงขายสิ้นปี ช่วยลดช่องว่างจากไอโอเอส-แอนดรอยด์ได้ คาดปีนี้ยอดขายเติบโตเกิน 10%
นายแกรนท์ แมคบีธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรวมของโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนปีนี้มีมูลค่าทางการตลาดสูงมากคิดเป็น 75% ของตลาดรวมทั้งหมด ในแง่ยอดขายสมาร์ทโฟนมีส่วนแบ่งที่ใกล้เคียงฟีเจอร์โฟน และฟังก์ชัน ดังนั้น โนเกียจึงต้องการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านสมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการวินโดว์ส โดยเตรียมส่งโนเกีย ลูเมีย 920 ภายใต้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส8 ออกจำหน่ายปลายปีนี้
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่า จากกระแสความนิยมของสมาร์ทโฟนโนเกียที่มีระบบปฏิบัติการวินโดว์สเป็นจุดขาย จะสามารถขึ้นมาติดอันดับที่ 3 ของตลาดสมาร์ทโฟนในไทยช่วงปลายปีนี้ได้แน่นอน รวมทั้งยังสามารถลดช่องว่างจากอันดับ 1 และ 2 ที่เป็นของระบบแอนดรอยด์ ซัมซุง และไอโอเอสของแอ๊ปเปิ้ลได้ อ้างอิงจากอัตราการเติบโตของวินโดว์สโฟนช่วงไตรมาสแรกในต่างประเทศที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเมื่อเทียบระบบปฏิบัติการอื่น
นายแมคบีธ กล่าวว่า หลังนำโนเกียลูเมีย 920 ออกวางจำหน่าย จะทำให้สิ้นปีนี้ จนถึงไตรมาส 1 ปี 2556 โนเกียจะมีส่วนแบ่งการตลาดเติบโตมากกว่า 10% แน่นอน อย่างไรก็ตาม หากนับในตลาดรวมโทรศัพท์มือถือทุกประเภท
ปัจจุบัน โนเกียยังมียอดขายอันดับ 1 แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งซัมซุง และเอชทีซีจะมีกำหนดวางจำหน่ายโทรศัพท์มือถือบนระบบปฏิบัติการวินโดว์ส8 ด้วยเช่นกัน
“วินโดว์ส โฟนของโนเกียมีแอพพลิเคชั่นเฉพาะของโนเกียเท่านั้น เช่น แอพพลิเคชั่นข่าวสาร เสียงเรียกเข้า โปรแกรมแต่งภาพในรูปแบบของแองกรี้ เบิร์ดส แอพพลิเคชั่นซิตี้เลนส์ ที่สามารถเปิดกล้องและส่องไปรอบจะปรากฏไอคอนแนะนำสถานที่ หรือร้านอาหารต่างๆ ได้ และเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายภาพ อันเป็นกิจกรรมสุดโปรดของคนไทย ซึ่งใช้กล้อง 8.7 พิกเซลประกอบกับเทคโนโลยีขั้นสูงในการแก้ไขภาพเบลอภาพสั่น เป็นต้น” นายแมคบีธ กล่าว
ส่วนแผนการตลาด โนเกีย ลูเมีย 920 ไม่เพียงแต่จะลบจุดอ่อนเรื่องการไม่มีภาษาไทยออกไป ด้วยการนำภาษาใส่ไทยมาบรรจุไว้เป็นอีก 1 ภาษาพื้นฐานแล้ว ยังได้เตรียมแผนขยายตลาดในประเทศไทย ด้วยการจัดทำแอพพลิเคชั่นที่เป็นสัญชาติไทยขึ้น โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ พาร์ค) ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทย ผ่านการทดลองและใช้งานจากกลุ่มตัวอย่างของนักศึกษามหาวิทยาตามที่ต่างๆ
ขณะเดียวกัน การซื้อแอพพลิเคชั่นต่างๆ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 3 รายในไทย ในการหาช่องทางให้ลูกค้าสามารถซื้อแอพพลิเคชั่นได้โดยวิธีง่าย เช่น ซื้อแอพพลิคลชั่นจากมาร์เก็ต เพลสได้ทันที โดยชำระค่าแอพได้รวมไปกับบิลแจ้งยอดใช้งานแต่ละเดือน แทนซื้อผ่านการกรอกรหัสบัตรเครดิต ซึ่งไม่ตอบสนองลักษณะนิสัยของคนไทย
ที่มา – bangkokbiznews