AIS พร้อมด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด (POMO), บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FLOW) และ ตัวแทนสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย (TYBA) รวมพลังฟื้นฟูการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine ครั้งแรกในไทย โดยอาศัยศักยภาพของโครงข่าย AIS NB- IoT และนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) เพื่อเสริมประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขของไทย สร้างความมั่นใจและดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้กลับมากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงทางภาคใต้อีกครั้ง
ที่มาของโครงการ Digital Yacht Quarantine
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า “วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2563 ภูเก็ตสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท”
เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ทาง DEPA, AIS, POMO, FLOW, TYBA ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และ สมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จึงได้ผนึกกำลังกันจัดทำโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine
โครงการ Yacht Quarantine หรือ กักตัวบนเรือยอชต์ จะใช้อุปกรณ์ติดตามสุขภาพอัจฉริยะในรูปแบบ Smartwatch (สำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ใหญ่) และ Smartband (สำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นเด็ก) ให้นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์เข้ามาพักผ่อนในประเทศไทยผ่านทางเรือยอชต์ได้สวมใส่เพื่อกักตัวอยู่บนเรือเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งอุปกรณ์ติดตามสุขภาพอัจฉริยะของ POMO สามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยว รวมถึงติดตามตำแหน่งได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในช่วงกักตัว โดยอาศัยแพลตฟอร์มของ FLOW และศักยภาพโครงข่าย NB- IoT ของ AIS
ใช้คลื่น 900 MHz ของ AIS ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับแพลตฟอร์ม
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 1 ด้วยเครือข่าย AIS 4G, 5G ที่มีคลื่นมากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ, กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ (คลื่น 700 MHz, คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz) ตลอดจนเครือข่าย IoT ทั้ง NB–IoT และ eMTC ที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เรามีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและขีดความสามารถของทีมงาน มายกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมากับโครงการ AIS 5G สู้ภัยโควิด ที่ได้นำศักยภาพของโครงข่ายไปใช้ในพื้นที่กักตัวและโรงพยาบาลสนามหลักหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, ศูนย์ห่วงใยคนสาคร และล่าสุดกับ โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine”
โครงการ Yacht Quarantine ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการนำศักยภาพโครงข่าย AIS NB- IoT และนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) ที่เป็นรูปแบบการกักตัวนักท่องเที่ยวบนเรือยอชต์กลางทะเลก่อนเดินทางขึ้นบก AIS จึงเลือกใช้เครือข่าย Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT บนคลื่น 900 MHz ที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมด้วยแพลตฟอร์ม Cloud มาเป็นเครือข่ายหลักเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ (NB-IoT Wristband Tracking) ที่พัฒนาขึ้นโดย POMO ผู้ให้บริการโซลูชั่น Tracking และ Monitoring ที่จะมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายังแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือ ก่อนเดินทางขึ้นบกเพื่อท่องเที่ยวต่อไป
อุปกรณ์ติดตามสุขภาพอัจฉริยะ (NB-IoT Wristband Tourist Tracking)
POMO สตาร์ทอัพไทยด้าน IoT สำหรับเด็กและนวัตกรรมสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่รายแรกที่สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกได้สำเร็จ นำโดยนายฉัตรชัย ตั้งจิตตรง ประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า POMO ได้รับความร่วมมือจาก AIS และ DEPA ในการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโครงการ Digital Yacht Quarantine กักตัวนักท่องเที่ยว 14 วันบนเรือ ที่ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต
สำหรับโครงการ Yacht Quarantine ทาง POMO มีการใช้อุปกรณ์ 2 รุ่นด้วยกันคือ Activ 10+ และ Smartwatch Active 30+ ที่เป็นทั้ง Tracker และ Health Device ให้นักท่องเที่ยวใส่ที่ข้อมือติดตัวตลอดเวลา เพื่อติดตามและเฝ้าระวังป้องกันการออกนอกพื้นที่ โดยระบบจะทำงานอย่างแม่นยำด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะที่สามารถวัดชีพจร ค่าความดัน และวัดอุณภูมิร่างกายของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถแจ้งสัญญาณ SOS ได้ หากนักท่องเที่ยวเกิดเหตุต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะแสดงไปยัง Dashboard บนเว็บไซต์ แบบ Real time เพื่อให้ส่งต่อความช่วยเหลือ หรือ ให้คำแนะนำได้ได้ตลอดเวลา โดยรูปแบบของการให้บริการ Health Monitoring ผ่านนวัตกรรมสายรัดข้อมืออัจฉริยะนี้ เป็นรุ่นเดียวกันกับที่ใช้บนเกาะ Cayman สำหรับ Hotel bubble project ซึ่งพบว่าให้ประสิทธิพลในการใช้งานได้เป็นอย่างดี
FLOWLOW แพลตฟอร์มที่ทำงานอยู่เบื้องหลังอุปกรณ์ติดตามสุขภาพอัจฉริยะ
นายธนภัทร ทั่วไตรภพ กรรมการบริหาร บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “เราดำเนินธุรกิจ บริหารจัดการความปลอดภัยท่าเรือและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี ภายใต้แพลตฟอร์มชื่อว่า FLOWLOW เพื่อสร้างมาตรฐานและประสบการณ์ใหม่ที่ดีให้กับนักเดินทางในทุกด้าน อาทิ ข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวอันดามัน, คำแนะนำในกรณีฉุกเฉิน, ประกันการเดินทาง และระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ในนาม Flowpay
สำหรับโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ “Digital Yacht Quarantine” ทาง โฟล คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมกับบริษัท พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป ผู้ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการท่าเทียบเรืออ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการตั้งแต่การให้บริการลงทะเบียน NB-IoT Wristband Tourist Tracking เพื่อให้นักท่องเที่ยวสวมใส่สำหรับกักตัวบนเรือยอชต์ 14 วัน พร้อมจัดทีมแพทย์ขึ้นไปตรวจเชื้อโควิดบนเรือ โดยจะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพตลอดเวลาและหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน ก็จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ก่อนอนุญาตให้เดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ต เรียกได้ว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มัล ที่นอกจากจะยกระดับการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และหมู่เกาะทะเลอันดามันให้มีความทันสมัยและอัจฉริยะมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย
โครงการ Yacht Quarantine ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์
นางสาวตัญญุตา สิงห์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอชท์ จำกัด ตัวแทนสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย (TYBA) กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสมาชิกสมาคมฯอย่างหนัก สูญเสียรายได้มากถึง 50 – 60% เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากเรือยอชต์ต่างชาติ เราจึงพยายามหาโซลูชั่นให้คนในธุรกิจเรือยอชต์ได้กลับมามีงานทำ จึงเป็นที่มาของโครงการกักตัวบนเรือยอชต์ ที่ได้ร่วมมือกับเอไอเอส, ดีป้า, PMH-ผู้ให้บริการ POMO และกลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ”
การยกระดับ Digital Yacht Quarantine ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และทุกภาคส่วนมีความสบายใจว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับเรือยอชต์นี้ ผ่านการกักตัวที่ได้รับมาตรฐานจากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ Yacht Quarantine ในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีสถิติการติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ และนักท่องเที่ยวรู้สึกมีความสุขกับการกักตัวบนเรือ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในปี 2564 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ประมาณ 100 ลำ จำนวนนักท่องเที่ยว 300 – 500 คน
NB-IoT Wristband Tourist Tracking นวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ
นวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ NB-IoT Wristband Tourist Tracking ถือเป็น Digital Tools อันใหม่ โดยเป็นความร่วมมือ ระหว่าง AIS และ POMO ผู้ให้บริการโซลูชั่น Tracking และ Monitoring ในการพัฒนาโซลูชัน Healthtech for Tourist Quarantine สำหรับ Digital Yacht Quarantine มาช่วยมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยว ทั้ง อุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร, ค่าความดันรวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือ โดยมีอุปกรณ์ให้นักท่องเที่ยวได้สวมใส่ 2 รุ่น ได้แก่ Activ 10+ และ Smartwatch Active 30+
อุปกรณ์ติดตามสุขภาพอัจฉริยะที่นำมาใช้ในโครงการ Digital Yacht Quarantine ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันสำคัญ SOS ปุ่มฉุกเฉินที่จะแจ้งเตือน ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยี AIS IoT มาช่วยงานด้านสาธารณสุข ลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ เสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำความรู้จักกับเครือข่าย Narrow Band (NB) IoT
AIS เป็นรายแรกที่เปิดให้บริการเครือข่าย NB-IoT และ EMTC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Internet Of Things ที่จะเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานระยะไกล, เหมาะกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ที่ไม่มีการเคลื่อนที่มากนัก, ใช้ Bandwidth น้อยในการส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT, ใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อย ทำใหัอุปกรณ์ IoT ที่มีการใช้พลังงานจาก Battery หรือ Solar Cell สามารถทำงานได้อย่างยาวนาน
AIS NB-IoT รองรับการใช้งานและการเชื่อมต่ออุปกรณ์ครอบคลุมทั้งบนพื้นดิน สามารถกระจายสัญญาณได้มากกว่า 10 กิโลเมตร ในทะเล จึงเหมาะที่จะนำไปใช้ในการเชื่อมต่อเครือข่ายสำหรับผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันกลุ่ม Smart Things ที่เน้นการอ่านค่าจากข้อมูล Sensor และรับคำสั่งกลับไปจาก Server หรือ Cloud ส่วนกลางเป็นหลัก ตอบโจทย์ Smart City
จุดเด่นเครือข่าย NB-IoT
- สนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ จึงช่วยทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ IoT อยู่ได้นานถึง 10 ปี
- สามารถรองรับปริมาณอุปกรณ์ IoT ได้สูงสุดในระดับแสนตัวต่อสถานีฐาน
- รัศมีครอบคลุมของเครือข่ายต่อสถานีฐาน กระจายได้มากกว่า 10 กิโลเมตร รวมถึงในตัวอาคารก็ยังรับสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สามารถพัฒนาเครือข่ายให้เปิดบริการ IoT ได้อย่างรวดเร็ว เพราะออกแบบอุปกรณ์ให้ใช้ร่วมกับ โครงข่าย 4G ในปัจจุบันได้ เหมาะแก่การนำไปใช้ ในทุกกลุ่ม Solutions อาทิ Smart City, Smart Industrial, Smart Logistics และ Smart Home
ทั้งนี้ สมาคม GSMA – Global System for Mobile Communications Association ได้ประกาศรับรองให้ AIS เป็นผู้ให้บริการรายแรกและรายเดียวในไทย ที่มีทั้งโครงข่าย NB-IoT และ eMTC (enhanced Machine-Type Communication) ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ AIS ยังได้รับการยอมรับจาก Frost & Sullivan องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ที่ประกาศให้เอไอเอสเป็น Thailand IoT Solutions Provider of the Year 2018 หรือ องค์กรที่มีความเป็นเลิศทางด้านบริการ IoT ตอกย้ำเครือข่ายที่ดีที่สุด
ขั้นตอนเข้าโครงการ Digital Yacht Quarantine สำหรับนักท่องเที่ยว
ขั้นตอนที่ 1: เมื่อมีนักท่องเที่ยว, เจ้าของเรือ หรือ ลูกเรือ ต้องการจะเข้ามาในราชอาณาจักรไทยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ผู้ที่จะเข้าโครงการ Yacht Quarantine จะประสานมากับทาง Agency ในพื้นที่เพื่อดำเนินการด้านเอกสารและแจ้งรายระเอียดต่างๆ ตามขั้นตอน (SOP) ที่ได้มีการกำหนดไว้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศรชล ด่านควบคุมโรง โรงพยาบาล ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง FLOWLOW และท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งเป็นบริเวณจุดจอดเรือสำหรับการทำการ Quarantine ระยะเวลา 14 วัน ซึ่งทางผู้เข้าโครงการกักตัวจะต้องเเจ้งรายระเอียของเรือ ลูกเรือ ท่าเรือต้นทาง ท่าเรือปลายทาง Passport รูปภาพผู้ทำการ Quarantine ทุกคน เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2: หลังจาก Agency ได้รับข้อมูลครบถ้วนและประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว จะทำการคอนเฟิร์มวันที่เรือลำดังกล่าวจะเข้าจุดจอดเรือที่ 1 หรือ 2 ตามที่หน่วยงาน ศรชล ได้กำหนดไว้ สำหรับ Day0 ทาง FLOWLOW ก็จะทำการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกอย่างลงในฐานข้อมูลและลิงก์เข้ากับ Smart Wristband ของ FLOWLOW เพื่อเตรียมการต่างๆตามมาตรการของ FLOWLOW
ขั้นตอนที่ 3: FLOWLOW ก็จะเตรียมทำความสะอาดตัว Smart Wristband แพ็คในถุงซีลเพื่อความสะอาด ชาร์จอุปกรณ์ มีเอกสารแนะนำการใช้ รวมอยู่ใน Package และนำไปส่งมอบให้คุณหมอผู้ที่จะลงเรือเพื่อไปทำการตรวจโรคใน Day1 บนเรือของผู้ที่เข้าโครงการ Yacht Quarantine ที่จอดลอยลำอยู่ ณ จุดที่กำหนด
ขั้นตอนที่ 4: สำหรับ Smart Wristband ผู้ที่ทำการกักตัวจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ตลอดเวลาที่ทำการ Quarantine บนเรือ และจะมีเวลาเพื่อถอดอุปกรณ์ออกมาชาร์จแบตเตอรี่ ในช่วงเวลา บ่าย 2 – 4 โมงเย็นของทุกวัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีเจ้าหน้าที่ ศรชล ที่สามารถควมคุมดูแลได้อย่างสะดวก
ขั้นตอนที่ 5: ในระหว่างที่ทำการ Quarantine 14 วันนั้น ทาง FLOWLOW จะมีทีมในการ Monitor ข้อมูลต่างๆของผู้ทำการกักตัวจากระบบหลังบ้าน เพื่อความเรียบร้อยและเฝ้าระวังในกรณีฉุกเฉิน โดยในระบบหลังบ้านเรามีการ Monitor ข้อมูล GPS และ Health Information ของผู้ทำการกักตัวอย่างละเอียด โดยจะมีกราฟแสดงข้อมูลในแต่ละวันอย่างชัดเจน ว่ามีความผิดปกติตรงไหน อุณหภูมิร่างกายผิดปกติไหม การเต้นของหัวใจเป็นยังไง เป็นต้น
ข้อมูลผู้ทำการกักตัวทุกคนจะถูกเก็บไว้ในระบบอย่างปลอดภัยตามกฏหมายป้องกันความปลอดภัยของประเทศไทย (PDPA) อย่างเคร่งครัด
หลังจากเสร็จสิ้นการกักตัว Agency จะนำ Smart Wristband มาคืน ณ ท่าเรืออ่าวปอ หลังจากนั้น FLOWLOW ก็จะนำอุปกรณ์มาทำความสะอาดตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและเตรียมสำหรับการใช้งานในครั้งต่อไป
โครงการ Digital Yacht Quarantine ถือเป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ให้บริการโครงข่าย และสตาร์ทอัพไทย เข้ามาเสริมขีดความสามารถด้านการสาธารณสุข การสร้างมาตรฐานใหม่ของการท่องเที่ยวแบบ New Normal ไปอีกขั้น พร้อมขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ สอดรับกับนโยบาย “ภูเก็ตโมเดล (GEMMSS)” ทำให้จังหวัดเป็นต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและการควบคุมโควิด-19 แห่งแรกในประเทศไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะภูเก็ตคือ “เมืองน่าอยู่เพื่อการท่องเที่ยวยังยืน” ช่วยกระตุ้นและจูงใจนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมายังภูเก็ตมากขึ้น ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักและแข็งแกร่งอีกครั้ง” ผศ.ดร.ณัฐพล ย้ำในตอนท้าย