AIS ได้รับใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ 26GHz อย่างทางการแล้ว ในช่วงความถี่ 25.2 – 26.4 GHz หลังจาก คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AIS ได้ชำระค่าประมูล 5,719.15 ล้านบาท สำหรับจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวกับทาง กสทช. เรียบร้อยแล้ว และพร้อมเดินหน้าใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ 26GHz ทันที ด้วยงบลงทุนราว 25,000 – 30,000 ล้านบาท ทั้ง 4G, 5G และ Fixed Broadband
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ถือเป็นวันแรกที่ AIS เริ่มเดินหน้าให้บริการ 5G อย่างทางการ หลังจากได้รับใบอนุญาตจากทาง กสทช. ในวันดังกล่าว ด้วยเงินลงทุน 35,000 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเครือข่าย 4G และ 5G ทำให้ AIS เป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G รายแรกในประเทศไทย ที่มีสัญญาณ 5G ครบทุก 77 จังหวัด และมีคลื่นความถี่มากที่สุด
การให้บริการ 5G ในระดับผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานทั่วไป ทาง AIS กล่าวว่า ในระยะแรกยังไม่มีความจำเป็นที่จะขยายสัญญาณแบบปูพรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่แบบ 4G เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังไม่มีอุปกรณ์ 5G โดยจะเร่งขยายสัญญาณ 5G ตามหัวเมืองหลักๆ ก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ขยายสัญญาณ 5G ตามปริมาณการใช้งานดาต้าในพื้นที่ต่างๆ แต่ยืนยันว่าในตัวเมืองสำคัญของแต่ละจังหวัด สามารถใช้งาน 5G ได้อย่างแน่นอน
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ เชื่อมั่นว่าภายใน 2 ปี สัญญาณ 5G จะครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ที่รองรับเริ่มถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่ใช่เพียงสมาร์ทโฟน 5G แต่ยังรวบถึงอุปกรณ์สวมใส่สำหรับใช้งานด้าน VR (Virtual Reality) หรือ MR (Mixed Reality) รวมไปถึงการเติบโตของแอพพลิเคชั่นและบริการด้าน AR (Augmented Reality) และแพลตฟอร์มการเล่นเกมแบบ Cloud Gaming
5G ในประเทศไทย พร้อมใช้งานในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากการระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้ AIS มีโอกาสนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปช่วยเหลือการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระบบการทำงานของอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการประมวลผลของระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อผ่านระบบคลาวด์
ในปีนี้ AIS ได้เริ่มนำเทคโนโลยี 5G มาใช้กับภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ทั้ง อมตะ คอร์ปอเรชั่น สวนอุตสาหกรรมบางกะดี อุตสาหกรรมโรจนะ เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังจากเปิดให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่ 700MHz และ 2600MHz ในประเทศไทยมาครบ 1 ปีพอดี ในวันนี้ (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564) ถือเป็นวันแรกที่ AIS เริ่มเดินหน้าใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ 26GHz อย่างทางการ โดยคลื่นความถี่ 700MHz และ 2600MHz ถูกนำมาให้บริการ 5G สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป รวมถึงระดับองค์กรและธุรกิจ ที่ต้องการความแรงของเทคโนโลยี 5G แต่สำหรับ 5G บนคลื่นความถี่ 26GHz ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรม
5G คลื่น 26GHz ถือเป็นคลื่นความถี่สูง หรือ mmWave ที่มีความเร็วสูงกว่า Sub-6GHz โดยมีรัศมีการส่งสัญญาณในระยะใกล้ แต่ให้แบนด์วิดท์สูง และมีค่าเวลาแฝง (Latency) ต่ำมาก จึงเหมาะสำหรับนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเชื่อมต่อหุ่นยนต์ เครื่องจักรกล ระบบขนส่ง และสายการผลิตต่างๆ ที่ใช้ระบบอัตโนมัติไร้มนุษย์ควบคุม รวมถึงใช้งานอุปกรณ์ IoT และอุปกรณ์ด้านระบบรักษาความปลอดภัยของโรงงานผ่านการควบคุมด้วย AI (Artificial Intelligence)
การนำเทคโนโลยี 5G บนคลื่นความถี่ 26GHz มาใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ได้รับแรงผลักดันจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยี 5G บนคลื่นความถี่ 26GHz มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามนโยบาย Industry 4.0 เนื่องจากผู้ประกอบการหลายแห่งมีความพร้อมแล้วในด้านอุปกรณ์ต่างๆ แต่ยังขาดเทคโนโลยี 5G ที่จะนำมาใช้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้าด้วยกัน เพื่อรับ-ส่งข้อมูลในปริมาณมหาศาล และจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี 5G บนคลื่นความถี่ 26GHz ที่นอกจากจะมีความแรงและเร็วของสัญญาณแล้ว ยังมีค่าเวลาแฝง (Latency) ที่ต่ำเป็นพิเศษ ทำให้การรับ-ส่งข้อมูลเกิดขึ้นทันทีแบบเรียลไทม์ ส่งผลให้หุ่นยนต์และเครื่องจักรต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น
ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล ในฐานะประธาน EEC Industrial Forum หรือ EIF กล่าวว่า EEC ถูกก่อตั้งมาเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ โดยทาง EEC มีความพร้อมในการสนับสนุนและช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ของ EEC ซึ่งมีความคาดหวังสูงในประสิทธิภาพการผลิต และสามารถแข่งขันทางด้านราคา แต่ในอดีตยังไม่สามารถตอบสนองต่อนักลงทุนได้อย่างเพียงพอ จนทำให้เกิด EIF พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ที่ช่วยผลักดันให้นโยบาย Industry 4.0 เป็นจริงให้ได้
ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล อธิบายถึง Industry 4.0 ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า เป็นยุคที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยไม่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยข้อจำกัดในตอนนี้คือปริมาณข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันนั้นมีมหาศาลที่จะส่งขึ้นไปเก็บบนแพลตฟอร์ม และมีความจำเป็นต้องใช้คลื่น 26GHz มาช่วยอัพโหลดและดาวน์โหลด เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้ Industry 4.0 ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง
คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS เปิดเผยว่า AIS ได้รับใบอนญาตใช้งานคลื่นความถี่ 700MHz จำนวน 30MHz คลื่น 2600MHz จำนวน 100MHz และคลื่น 26GHz จำนวน 1200MHz รวมทั้งหมด 1420MHz ครอบคลุมทุกย่านความถี่ ต่ำ กลาง สูง โดยคลื่น 700MHz เป็นย่านความถี่ต่ำ เหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่ห่างไกล เพราะส่งสัญญาณได้ไกลที่สุด แต่มีแบนด์วิดท์ต่ำกว่า คลื่น 2600MHz เป็นย่านความถี่กลาง เหมาะสำหรับใช้งานในเขตเมือง ทำความเร็วได้ระดับ Gbps ส่วนคลื่น 26GHz เป็นย่านความถี่สูง เหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่หนาแน่นและเขตอุตสาหกรรม ด้วยแบนด์วิดท์ที่กว้างเป็นพิเศษ
คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ไม่ได้มีแค่ความเร็วและแรงของสัญญาณเท่านั้น แต่เป็นเทคโนโลยีที่ถูกสร้างมาเพื่อภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ช่วยให้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลในโรงงานทุกเครื่อง สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ โดยใช้ประโยชน์จากค่าเวลาแฝง (Latency) ที่ต่ำเป็นพิเศษของ 5G
AIS ในฐานะเป็นผู้ให้บริการฯ มีหน้าที่ออกแบบเครือข่าย 5G บนคลื่น 26GHz หรือ mmWave ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละโรงงาน ที่มีความแตกต่างกันไปตามธุรกิจที่ดำเนินงาน บางโรงงานอาจต้องการความเร็ว บางโรงงานอาจเน้นรับ-ส่งข้อมูลในปริมาณมาก โดยคลื่น mmWave สามารถจำกัดการใช้งานอยู่เฉพาะในพื้นที่โรงงานแบบ Private Network และถูกแยกกับเครือข่าย 5G ของผู้บริโภคทั่วไปอย่างชัดเจน ทำให้การใช้งาน 5G ในโรงงานมีความเสถียรมากที่สุด และมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้เครือข่าย Wi-Fi ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
คุณสมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC ได้แสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ในโรงงานอย่างไรบ้าง รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการนำหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลมาช่วยในการทำงาน หลังจากได้ทดลองใช้เทคโนโลยี 5G จาก AIS เพื่อยกระดับเป็น Industry 4.0 ตามแผนที่วางไว้ของ EEC
SNC เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ รวมถึงเป็นผู้ประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในฐานะ OEM และ ODM ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการแข่งขันสูงทั้งภายในและต่างประเทศ จึงต้องพัฒนาบริษัทฯ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการผลิต การจัดส่ง และ ต้นทุน ดังนั้น เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตของ SNC Former ให้สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อกันเองระหว่างหุ่นยนต์กับหุ่นยนต์ หรือ มนุษย์กับเครื่องจักร โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลจำนวนมาก ที่ต้องใช้ 5G เพื่อให้สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้แบบเรียลไทม์
โรงงาน SNC ในจังหวัดระยอง เริ่มนำเทคโนโลยี 5G จาก AIS มาใช้ในสายการผลิต เพื่อเชื่อมต่อหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร มนุษย์ และ ข้อมูลทั้งหมด เข้าไว้ด้วยกัน โดยการวางระบบ Automation, Robotic และ Intenet of Things มาทำงานร่วมกันในรูปแบบไร้สาย มีรถ AGV (Automatic Guided Vehicle) สำหรับถ่ายสินค้าไปยังคลังสินค้า หรือแม้แต่ไปส่งยังยานพาหนะที่มารับสินค้าไปจัดส่ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังระบบ Cloud Computing ที่ศูนย์ควบคุมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ 5G ยังช่วยประมวลผลเพื่อส่งออกได้อย่างเรียลไทม์ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถตรวจสอบกำลังการผลิตเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ รวมถึงฝ่ายจัดซื้อก็สามารถตรวจสอบปริมาณวัตถุดิบได้ทันที
เมื่อเทียบกับการทำงานระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ คุณสมชาย งามกิจเจริญลาภ ยอมรับว่าแรงงานคนจำเป็นต้องแบ่งการทำงานออกเป็นหลายกะ ซึ่งจะมีช่วงเวลาเปลี่ยนกะที่สายการผลิตต้องหยุดชะงัก รวมถึงความเหนื่อยล้าของพนักงานที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน แต่หุ่นยนต์จะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องการวันหยุด และยังรักษาคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 50%
คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ กล่าวเสริมว่า ความเร็วและค่าเวลาแฝง (Latency) ที่ต่ำมากของ 5G ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยภายในโรงงานได้ โดยทำงานร่วมกับกล้องวงจรปิดความละเอียดสูง ที่ใช้ AI ในการตรวจสอบ โดย AI สามารถตรวจจับได้ว่าพนักงานในโรงงานได้สวมชุดป้องกันที่ถูกต้องหรือไม่ นอกเหนือจากการเฝ้าระวัง ซึ่งการที่ AI จะสามารถตรวจจับความผิดปกติผ่านกล้องวงจรปิดได้ จำเป็นต้องรับปริมาณข้อมูลมหาศาล และใช้แบนด์วิดท์สูงของ 5G คลื่น 26GHz
ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล กล่าวสรุปว่า เมื่อประเทศไทยยกระดับเป็น Industry 4.0 จะช่วยดึงดูดนักลงทุนได้อย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยจะมีความพร้อมในทุกด้านของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การผลิตมีประสิทธิผลทั้งคุณภาพและระยะเวลา และยังได้เปรียบในเรื่องของต้นทุน ผลที่ตามมาคือค่า GDP จะเพิ่มขึ้นถึง 50% ตามมาด้วยการขยายตัวของอุตสาหกรรมและระบบขนส่ง โดยคาดว่าจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนภายใน 3 ปี และเป้าหมายต่อไปคือส่งต่อเทคโนโลยีไปยังกลุ่ม SME ด้วยหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย