บริษัทหัวเว่ยประกาศว่าได้ดำเนินการยื่นฟ้องบริษัทเวอไรซอน (Verizon) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐฯ ด้วยข้อหาละเมิดสิทธิบัตร ที่ศาลแขวงแห่งสหรัฐอเมริกาประจำแขวงตะวันออกและตะวันตกรัฐเทกซัส โดยหัวเว่ยเรียกร้องเงินชดเชยกรณีที่เวอไรซอนใช้เทคโนโลยีจดสิทธิบัตรและได้รับการคุ้มครองโดยสิทธิบัตรของหัวเว่ยในสหรัฐอเมริกา 12 รายการ
ดร. ซ่ง หลิ่วผิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ย ระบุว่า “ผลิตภัณฑ์และบริการของเวอไรซอนได้ผลประโยชน์จากเทคโนโลยีจดสิทธิบัตร ซึ่งเป็นผลงานที่หัวเว่ยใช้เวลาหลายปีทุ่มเทวิจัยและพัฒนา”
ในฐานะผู้ให้บริการสมาร์ทดีไวซ์และอุปกรณ์การสื่อสารชั้นนำ หัวเว่ยลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้วยงบประมาณร้อยละ 10-15 ของรายได้ต่อปี ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา บริษัททุ่มงบประมาณให้กับการวิจัยและพัฒนาไปมากกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.18 ล้านล้านบาท) ซึ่งให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการยื่นจดสิทธิบัตรมากกว่า 80,000 รายการทั่วโลก และในจำนวนนี้มีสิทธิบัตรที่ยื่นจดในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมากถึง 10,000 รายการ นวัตกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่เสาหลักแห่งความสำเร็จของหัวเว่ยแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ทว่ายังถูกนำไปใช้งานโดยบริษัทต่างๆ ทั่วโลก สร้างมูลค่าทั้งในสหรัฐฯ และในที่ต่างๆ มากมาย
ก่อนจะยื่นฟ้องในรัฐเทกซัส หัวเว่ยเคยเจรจากับเวอไรซอนมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลานั้น หัวเว่ยได้แจ้งรายละเอียดของสิทธิบัตรและหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ระบุว่าเวอไรซอนใช้สิทธิบัตรของหัวเว่ยแล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้สิทธิได้
“เราลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาไปอย่างมหาศาลก็เพราะว่าเราต้องการจะมอบโซลูชันด้านโทรคมนาคมที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับลูกค้าของเรา เราแบ่งปันนวัตกรรมเหล่านี้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในวงกว้างผ่านสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ” ดร.ซ่ง กล่าว
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน เราประสบความสำเร็จในการเจรจาสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรกับบริษัทหลายแห่ง แต่เมื่อไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ เราก็ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการชดใช้ตามกฎหมาย”
“นี่เป็นวิถีปฏิบัติทั่วไปของแวดวงอุตสาหกรรมนี้ หัวเว่ยเพียงขอให้เวอไรซอนเคารพการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ย โดยจะชำระเป็นค่าใช้งานสิทธิบัตรของเราก็ได้ หรือจะเลิกใช้สิ่งที่เป็นสิทธิบัตรของเราในผลิตภัณฑ์และบริการของเวอไรซอนก็ย่อมได้”
หัวเว่ยเคารพและปกป้องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนการแบ่งปันเทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรอย่างถูกต้องตามกฎหมายผ่านสัญญาสิทธิบัตรแบบแลกเปลี่ยน (cross-license) หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบชำระเงิน (paid license agreements) ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา หัวเว่ยมีส่วนร่วมกับการเจรจาสิทธิบัตรแบบแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางกับผู้ถือสิทธิบัตรรายใหญ่หลายรายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับผู้ค้ารายใหญ่ในแวดวงไอซีทีมาแล้วมากกว่า 100 ฉบับ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา หัวเว่ยได้รับค่าธรรมเนียมสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรเป็นมูลค่ามากกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 43,736 ล้านบาท) และในปัจจุบัน หัวเว่ยยังคงชำระเงินเป็นมูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 187,440 ล้านบาท) เพื่อใช้เทคโนโลยีที่ถือสิทธิบัตรโดยบริษัทร่วมแวดวงอุตสาหกรรมอย่างถูกกฎหมาย โดยร้อยละ 80 ของค่าธรรมเนียมสิทธิบัตรดังกล่าวถูกจ่ายให้กับบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา
นวัตกรรมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาคือเสาหลักแห่งความสำเร็จของหัวเว่ย ในปี 2018 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยพุ่งแตะ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 468,600 ล้านบาท) เกือบเทียบได้กับ ร้อยละ 15 ของรายได้ต่อปีของบริษัท ชื่อหัวเว่ยจึงขึ้นมาเป็นอันดับที่ 5 ของกระดานคะแนนอุตสาหกรรมและ การลงทุนแห่งสหภาพยุโรป ปี 2019 (2019 EU Industrial R&D Investment Scoreboard) ซึ่งเผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการยุโรป
หัวเว่ยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เดินหน้าแบ่งปันความสำเร็จชั้นนำทางด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยกับ แวดวงอุตสาหกรรมและสังคมในภาพรวม ซึ่งรวมทั้งบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เพราะการแบ่งปันนวัตกรรมออกสู่วงกว้างนั้นยิ่งผลักดันทั้งอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563
###