Huawei Wi-Fi 6 ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของโลก (ไม่รวมอเมริกาเหนือ) ในรายงานส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wi-Fi 6 ภายในอาคาร ระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 ซึ่งจัดทำโดย Dell’Oro Group บริษัทวิเคราะห์และวิจัยการตลาดอิสระชั้นนำ
เมื่อเดือนตุลาคม 2018 เครือข่ายพันธมิตร Wi-Fi Alliance ได้ประกาศระบบการตั้งชื่อใหม่อย่างเป็นทางการสำหรับ Wi-Fi ยุคใหม่ โดยกำหนดให้ชื่อ Wi-Fi 6 เป็นชื่อเรียกของ IEEE 802.11ax โดย Wi-Fi 6 ได้ยกระดับคุณสมบัติของ Wi-Fi 5 ด้วยแบนด์วิดท์ต่อเครืองลูกข่ายและความสามารถในการรองรับจำนวนผู้ใช้งานสูงขึ้นกว่าสี่เท่า อีกทั้งมีค่าความหน่วงลดลงกว่าสามเท่า การปรับปรุงคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ Wi-Fi 6 ได้รับความนิยมมากขึ้นและถูกนำไปใช้งานตามบริษัท โรงเรียน โรงพยาบาล และองค์กรอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงทุกสิ่งภายในเครือข่ายแคมปัสขององค์กรเข้าด้วยกัน ผู้ใช้งานกลุ่มแรกเหล่านี้นำ Wi-Fi 6 ไปใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัย เช่น การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (video conferencing) ที่มีความละเอียดสูงระดับ 4K/8K, การเรียนการสอนแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ใช้การจำลองภาพเสมือนจริง VR/AR, โทรเวชกรรม หรือระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) และหุ่นยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น
รายงานล่าสุดของ Dell’Oro Grop เป็นหลักฐานยืนยันถึงความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของ Wi-Fi 6 ในระดับองค์กรทั่วโลก รายงานระบุว่า รายได้รวมของตลาด Wi-Fi 6 ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2019 โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2018 ถึง 30 เท่า ขณะที่รายได้ของตลาด Wi-Fi 4 และ Wi-Fi 5 ลดลงเล็กน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งข้อมูลนี้บ่งชี้ได้ว่า ปี 2019 ถือเป็นปีแรกที่มีการนำ Wi-Fi 6 ไปใช้งานในเชิงพาณิชย์
หัวเว่ยเป็นผู้นำในตลาด Wi-Fi 6 โดยบริษัทได้บุกเบิกเครือข่าย Wi-Fi 6 ระดับองค์กรเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมด้วยการติดตั้งใช้งานผลิตภัณฑ์ AirEngine Wi-Fi 6 ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่เมื่อปี 2018 และนับตั้งแต่นั้น Huawei AirEngine Wi-Fi 6 ซึ่งมี Huawei 5G เป็นขุมพลัง ก็ได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก โดยช่วยให้ลูกค้าสร้างเครือข่าย Wi-Fi 6 ที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม ด้วยการขาดหายของสัญญาณ (coverage hole) ที่เป็นศูนย์ ระยะเวลาในการรอ (wait time) ที่เป็นศูนย์ และความสูญหายของข้อมูล (packet loss) ระหว่างการโรมมิ่งที่เป็นศูนย์ โดยลูกค้าประกอบด้วย Shenzhen Metro ในประเทศจีน สนามกีฬา Basel St. Jakob-Park ในสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคาร Agos ในอิตาลี มหาวิทยาลัย Mondragon University ในสเปน และมหาวิทยาลัย University of Johannsebrg ในแอฟริกาใต้
Steven Zhao ประธานแผนก Campus Network Domain ฝ่าย Data Communication Product Line ของหัวเว่ย กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้เห็นว่า Huawei AirEngine Wi-Fi 6 ถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการศึกษา หน่วยงานของรัฐบาล บริษัทขนาดใหญ่ และในอุตสาหกรรมการผลิต Huawei AirEngine Wi-Fi 6 ช่วยให้องค์กรทุกขนาดสร้างเครือข่ายที่เน้นให้ความสำคัญกับประสบการณ์ผู้ใช้เป็นหลัก เพื่อประสิทธิภาพการทำงานและการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบริการดิจิทัลและขับเคลื่อนให้เกิดการพลิกโฉมธุรกิจสู่ดิจิทัลที่รวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป”
ความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อ Huawei Wi-Fi 6 นี้ เป็นผลมาจากการลงทุนและความทุ่มเทอย่างไม่หยุดยั้งของหัวเว่ยในอุตสาหกรรม Wi-Fi 6
– Osama Aboul Magd ผู้เชี่ยวชาญของหัวเว่ย ได้รับเลือกเป็นประธานคณะทำงาน IEEE 802.11ax Working Group เมื่อปี 2014 ซึ่งเขามีบทบาทในการนำความรู้ความเข้าใจเชิงลึกมาช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนามาตรฐานของอุตสาหกรรม Wi-Fi 6 อย่างต่อเนื่อง
– หัวเว่ยมีส่วนร่วมในการเสนอมาตรฐาน Wi-Fi 6 มากเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้จำหน่ายอุปกรณ์
– เมื่อเดือนตุลาคม 2017 หัวเว่ยได้เปิดตัวอุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wi-Fi 6 AP เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของอุตสาหกรรม และนับตั้งแต่นั้น หัวเว่ยได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการ Wi-Fi 6 อย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานรูปแบบต่าง ๆ
– หัวเว่ย และ Wireless Broadband Alliance (WBA) ได้ร่วมมือกันศึกษานวัตกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ Wi-Fi 6 รวมถึงการใช้งานในสถานการณ์จริงที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของสเปน
ในอนาคต หัวเว่ยจะร่วมมือกับพันธมิตรทั่วทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดจนมุ่งเน้นรูปแบบการใช้งานเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น และให้บริการโซลูชั่นเครือข่าย Wi-Fi 6 ที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้งานดิจิทัลรูปแบบใหม่ ๆ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังจะพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น AirEngine Wi-Fi ที่ขับเคลื่อนโดย Huawei 5G เพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สร้างเครือข่ายแบบแคมปัสภายในองค์กรที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์และพร้อมสำหรับอนาคต