ไอบีเอ็มประกาศว่าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือไมเนอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทในอุตสาหกรรมบริการ ร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ได้กลายเป็นพันธมิตรภาคธุรกิจกลุ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการโมเดลโรงเรียน P-TECH (Pathways in Technology Early College High School) ของไอบีเอ็ม โดยไอบีเอ็ม เอไอเอส ไมเนอร์ และกระทรวงศึกษาธิการจะร่วมมือกันเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และสเต็ม (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) พร้อมเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวิชาการ และเปิดโอกาสให้นักเรียน-นักศึกษาได้สัมผัสกับ ‘ตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญา’ (new collar) ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการบริการ
กระทรวงศึกษาธิการและไอบีเอ็มได้เปิดตัวโครงการ P-TECH ในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนพันธกิจของรัฐบาลในการสร้างการเรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง และการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ไอบีเอ็มเริ่มดำเนินโครงการ P-TECH มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เพื่อเปิดมิติใหม่ด้วยการปูทางจากระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและมหาวิทยาลัยสู่การทำงาน โดยเป็นโมเดลที่ผนึกความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาควิชาการและภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะของนักเรียน
โครงการ P-TECH ในประเทศไทยจะเริ่มจริงในปีการศึกษา 2563 ในรูปแบบโปรแกรมการเรียน 5 ปี และเน้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงตามสาขาที่เรียน นักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจากไอบีเอ็มและพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วม ทั้งในแง่การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและด้านธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่างๆ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเยี่ยมชมสถานที่ทำงานจริง และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานโดยได้รับค่าตอบแทน โดยเมื่อจบหลักสูตร นักเรียนกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการได้รับการพิจารณาเข้าทำงานเป็นอันดับแรกๆ กับไอบีเอ็ม เอไอเอส ไมเนอร์ และพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ นักเรียนที่ร่วมโครงการยังจะได้เรียนหลักสูตรต่างๆ ที่ครอบคลุมถึงทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 อาทิ วิทยาศาสตร์ข้อมูล อนาไลติกส์ ดีไซน์ธิงค์กิง อไจล์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำ เป็นต้น
“โมเดล P-TECH และการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรธุรกิจอย่างเอไอเอสและไมเนอร์ในวันนี้ รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ จะช่วยสร้างความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีและการทำงานที่จำเป็นสำหรับอาชีพยุคใหม่ และ ‘ตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญา’ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน โดยตำแหน่งงานเหล่านี้ต้องการบุคลากรที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แต่ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นปริญญาตรี” นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ความร่วมมือกับเอไอเอสและไมเนอร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรภาคธุรกิจลำดับแรกของเรา จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเตรียมทักษะที่จำเป็นให้แก่นักเรียน เพื่อให้พวกเขามีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จได้ในโลกธุรกิจจริง”
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรภายใต้โครงการ P-TECH เอไอเอสมองเห็นความท้าทายด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในยุค Digital Disruption เรามองว่าโครงการ P-TECH ที่เราและพันธมิตรต่างๆ ร่วมมือกัน จะมีส่วนช่วยสร้างบุคลากรมืออาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของประเทศและองค์กรธุรกิจทั้งในวันนี้และในอนาคต เรามองเห็นความต้องการบุคลากรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายงานด้านไอทีและวิศวกร อาทิ AI, fintech, digital payment , IoT, cloud, big data, blockchain, AR-VR, Cyber Security เป็นต้น โครงการ P-TECH ที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่าน case study และความรู้ในมุมอุตสาหกรรมจากโลกธุรกิจจริง จะเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยได้รับความรู้ที่มีคุณค่าและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงทักษะต่างๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสและเส้นทางสายอาชีพใหม่ๆ ให้พวกเขาต่อไป”
นางปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไมเนอร์ได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับการทำงานกับกลุ่มเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โครงการ P-TECH เป็นอีกหนึ่งก้าวย่างของความพยายามของเราในการที่จะนำองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เข้าเสริมศักยภาพให้แก่นักเรียน ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการด้วย ดังนั้น การผนวกทักษะเหล่านี้เข้ากับหลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบันจะช่วยให้ไมเนอร์และพันธมิตร P-TECH มั่นใจได้ว่าคนรุ่นต่อไปจะมีความพร้อมในการเข้าสู่โลกการทำงาน และจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป”
ในประเทศไทย ความสนใจในอาชีพสายสเต็มลดลงเหลือประมาณร้อยละ 20[1] และมีนักศึกษาเพียงร้อยละ 32 ที่จบการศึกษาในสายสเต็ม[2] สวนทางกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมที่คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 25 ของจีดีพี ของไทยภายในปี พ.ศ. 2570[3]
ปัจจุบัน โมเดล P-TECH ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้ขยายไปแล้วในมากกว่า 19 ประเทศและคาดว่าจะมีการนำไปใช้ในโรงเรียนมากกว่า 200 แห่งทั่วโลกภายในสิ้นปี พ.ศ. 2562 โดยมีพันธมิตรจากบริษัทต่างๆ กว่า 650 บริษัทในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ และการผลิตขั้นสูง และพร้อมเปิดรับสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจจากทุกภาคส่วนในประเทศไทยที่มีสนใจเข้าร่วมโครงการ P-TECH
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ P-TECH โปรดเข้าไปที่ www.ptech.org