ในวันที่ 9 สิงหาคม 25562 ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ Huawei เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนจากต่างประเทศ เข้าร่วมงานประชุมของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ HDC 2019 หรือ Huawei Developer Conference ประจำปี 2019 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 สิงหาคมที่ประเทศจีน ซึ่งมีนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 5,000 คน
โดยภายในงานดังกล่าวมีไฮไลท์ที่น่าสนใจคือการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Harmony OS และ EMUI 10 อย่างทางการ พร้อมกับระบบนิเวศและดึงดูดนักพัฒนารายใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย
Harmony OS
Richard Yu ซีอีโอของ Huawei ได้ขึ้นเวทีกล่าวเปิดงานพร้อมเปิดตัวระบบปฎิบัติการของ Huawei ที่พัฒนาขึ้นมาเองซึ่งมีชื่อเรียกทางการว่า Harmony OS หรือหลายคนคุ้นเคยในชื่อ HongMeng เป็นระบบปฏิบัติการแบบ Open Source ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย ตอบสนองการทำงานอย่างรวดเร็ว และรองรับการทำงานบนอุปกรณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ทวอทช์ ลำโพง ทีวี คอมพิวเตอร์ แม้แต่ในรถยนต์
Huawei เริ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2017 ก่อนจะพร้อมเปิดตัวทางการในชื่อ Harmony OS และใช้เวอร์ชั่น 1.0 โดยจะออกเวอร์ชั่น 2.0 และ 3.0 ตามออกมาในปี 2020 และ 2021 ตามลำดับ โดยในปีหน้า จะเริ่มนำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ และมีแผนนำไปใช้กับอุปกรณ์ VR ในอนาคตด้วย
ระบบปฏิบัติการ Harmony OS ยังต้องการเวลาในการพัฒนาและสร้างระบบนิเวศอีกสักพักใหญ่ ก่อนจะนำมาใช้กับสมาร์ทโฟนในอนาคต อย่างไรก็ตาม Harmony OS พร้อมแล้วที่จะนำมาใช้กับสมาร์ททีวี ที่จะออกมาทำตลาดในปลายปีนี้
EMUI 10
ในส่วนของสมาร์ทโฟน Harmony OS ยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่ในอีกไม่นานนี้ Huawei จะปล่อยระบบปฏิบัติการ EMUI 10 ที่ทำงานบนพื้นฐาน Android Q ออกมาให้ใช้งานกันอย่างแน่นอน
EMUI 10 มาพร้อม User Interface ที่ได้รับการออกแบบใหม่ ใช้งานในเวลากลางคืนได้อย่างสบายตาด้วย Dark Mode แบบเต็มระบบ และไม่ลืมปรับปรุงประสิทธิภาพให้ตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็วขึ้น
ด้านหน้าตา User Interface จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดกับไอคอนทางลัดของแต่ละแอพ ที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีมุมโค้งมน ขณะที่ Dark Mode หรือธีมสีเข้ม ถูกพัฒนาให้สนับสนุนแอพพลิเคชั่นจากบุคคลที่สามด้วย รวมถึงแอพพลิเคชั่นพื้นฐานที่มากับระบบ และมาพร้อมฟีเจอร์ Always on Display แสดงวัน เวลา และ การแจ้งเตือนต่างๆ เมื่อจอแสดงผลปิดอยู่
ด้านประสิทธิภาพ EMUI 10 ได้รับการปรับปรุงระบบไฟล์ EROFS และ GPU Turbo 3.0 ช่วยให้ตอบสนองการทำงานได้ดีขึ้น และไร้ค่าหน่วงหรือ latency ในระหว่างสลับแอพพลิเคชั่น
EMUI 10 ช่วยให้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ในรูปแบบไร้สาย ทำให้การถ่ายโอนไฟล์ระหว่างสมาร์ทโฟนกับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องง่าย และสามารถตอบกลับข้อความในสมาร์ทโฟนผ่านคอมพิวเตอร์ได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ EMUI 10 ยังมาพร้อมฟีเจอร์ HiCar สำหรับเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับระบบความบันเทิงภายในรถยนต์ เพื่อควบคุมการเล่นเพลง ระบบนำทาง รวมถึงควบคุมเครื่องปรับอากาศ
โดย Huawei จะปล่อย EMUI 10 เวอร์ชั่น Beta แรกให้กับผู้ใช้งาน P30 Series ได้ทดลองใช้งานวันที่ 8 กันยายนนี้เป็นกลุ่มแรก และนี่คือรายชื่อสมาร์ทโฟน ที่รองรับการอัพเดท EMUI 10 ในอนาคต
- Huawei P30 Pro
- Huawei P30
- Huawei Mate 20
- Huawei Mate 20 Pro
- Huawei Mate 20 X
- Huawei Mate 20 Porsche Design
- Honor View20
- Honor Magic 2
HMS (Huawei Mobile Services)
นอกจากระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ที่ได้รับการเปิดตัวในงานประชุมนักพัฒนา Huawei Developer Conference ประจำปีนี้ Huawei ยังถือโอกาสแนะนำระบบนิเวศใหม่ที่เรียกว่าแพลตฟอร์ม HMS (Huawei Mobile Services)
แพลตฟอร์ม HMS จะเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของ Huawei หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ HMS ก็มีความคล้ายกับ GMS (Google Mobile Services) นั่นเอง แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้กับระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ในอนาคต
HMS ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักพัฒนาสามารถมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ลดขั้นตอนการพัฒนา และนำเสนอแอพพลิเคชั่นของตนเองสู่ผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้อุปกรณ์หลากหลายประเภทได้ ซึ่งในปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่น 43,000 ตัว ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม HMS และในโอกาสนี้ Huawei ได้เปิดส่วนหลักของแพลตฟอร์ม HMS ทั้งสิ้น 14 ส่วน บริการ 51 ประเภท และ APIs 885 ชุดให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้
เดือนกันยายนที่กำลังจะมาถึงนี้ Huawei จะนำเสนอมาตรฐาน Fast Applications ที่ใช้งานอยู่แล้วในประเทศจีนขยายออกไปทั่วโลก เพื่อการพัฒนาคุณสมบัติของการใช้งานแอพพลิเคชั่นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องติดตั้งลงในอุปกรณ์ ปัจจุบัน Huawei มีบริการมากกว่า 5,000 บริการใน HUAWEI Ability Gallery สำหรับนักพัฒนาชาวจีน โดยแพลตฟอร์ม HUAWEI Ability Gallery จะเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน
App Gallery Connect
พร้อมกันนี้ Huawei ยังเปิดตัวระบบ App Gallery Connect สู่นักพัฒนาทั่วโลก เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่นักพัฒนาในกระบวนการพัฒนาและนำเสนอแอพพลิเคชั่น ทั้งการสร้างสรรค์ พัฒนา นำเสนอ ดูแล และการวิเคราะห์ โดยเพิ่มเงินสนับสนุนจาก 1 พันล้านหยวน เป็น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับโครงการ Shining Star และเปิดโอกาสให้นักพัฒนานอกประเทศจีน สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เป็นครั้งแรก และยังจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ ของนักพัฒนาทั่วโลก
ที่งาน Huawei Developer Conference ประจำปีนี้ Huawei ยังได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม HiLink, LiteOS และ Chip Suite สำหรับอุปกรณ์และระบบคลาวด์ ระบบปฏิบัติการ และชิปเซ็ตตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์มแบบ Open Source ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้กระบวนการพัฒนาทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
HiLink + LiteOS
HiLink เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับการค้นหาและเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเชื่อมต่อซ้ำ ซึ่งสามารถรองรับอุปกรณ์ที่หลากหลายและการควบคุมหลายรูปแบบ เชื่อมทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการทำงานที่ง่ายกว่าที่เคย
LiteOS เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ IoT และแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยหัวเว่ยใช้เฟรมเวิร์คการพัฒนาและการสร้างโปรแกม Maple JS ที่มีขีดความสามาถด้านการประมวลผลเทียบเท่าการพัฒนาระบบโดยใช้ภาษา C เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนา
การผสานชิป HiSilicon, LiteOS, Gigahome และ Honghu ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้เข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ได้โดยสะดวกมากขึ้น
Kirin
สุดท้ายนี้ Huawei พร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยเครื่องมือและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำเสนอผลงงานได้ในทุกอุปกรณ์ของ Huawei พร้อมนำเสนอแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการทำงานร่วมกับชิป Kirin
โดยเฉพาะการพัฒนาคุณสมบัติด้านมัลติมีเดีย ที่ช่วยลดขั้นตอนการพัฒนา โดยอาศัยการสังเกตจดจำการใช้งานของผู้ใช้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยกระดับแนวคิดปัญญาประดิษฐ์ให้ก้าวไปอีกขั้น โดย Huawei มีแผนที่จะนำแนวคิดการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกันทั้งหมดนี้ให้เป็นจริงได้ใน 5 ถึง 10 ปี ข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก
บทความโดย – www.flashfly.net