เว็บไซต์คอนซูเมอร์แมน อ้างการทดสอบของ “โรเบิร์ต ซิซิเลียโน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการขโมยอัตลักษณ์ ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ Macafee บริษัทด้านความปลอดภัยบนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซิซิเลียโน ทดลองซื้ออุปกรณ์ดิจิทัลมือสองผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้ง iPhone, iPod, Laptop,Desktop, Net Book และ Notebook เพราะอยากรู้ว่าเขาจะได้ข้อมูลอะไรบ้างจากเครื่องเก่าเหล่านี้
ในบรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิดราว 30 เครื่องที่ซื้อมา ซิซิเลียโนสามารถกู้ข้อมูลกลับมาได้จากอุปกรณ์ราวครึ่งหนึ่ง ทั้งที่เจ้าของเดิมล้างข้อมูลหมดแล้ว แต่ในโลกดิจิทัลไม่ใช่เรื่องยากที่จะกู้ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกลบไปแล้ว เขาเล่าว่า ได้พบเห็นข้อมูลต่างๆ เท่าที่คนๆ หนึ่งจะมีบนโลกดิจิทัล ตั้งแต่ภาพครอบครัว ข้อมูลส่วนตัว เอกสารจากศาลยุติธรรม เอกสารของลูกๆ ชื่อผู้ใช้งาน (user name) รหัสพาสเวิร์ด หมายเลขประกันสังคม ข้อมูลวันเกิด บันทึกเกี่ยวกับพนักงาน เอกสารภาษี รวมไปถึงภาพลามกสารพัด
สิ่งเหล่านี้ สะท้อนว่า บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จำเป็นต้องทำหน้าที่ให้ดีกว่านี้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถลบข้อมูลจากอุปกรณ์พวกนี้ได้จริงๆ เพราะปัญหา คือ อุปกรณ์ดิจิทัลจำนวนมากที่ใช้กัน ไม่ทำงานอย่างที่ควรจะทำ เวลาที่รีเซ็ตระบบปฏิบัติการใหม่ หรือในเวลาที่ติดตั้งใหม่ หรือฟอร์แมตใหม่
ในความเห็นของซิซิเลียโน BlackBerry เป็นอุปกรณ์ที่ลบข้อมูลได้สมบูรณ์ที่สุด ผลิตภัณฑ์ของ Apple ก็ทำหน้าที่ได้ดี แต่อุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของกูเกิลสอบตก เพราะแม้จะรีเซ็ตกลับไปยังระบบที่โรงงานตั้งมา ก็ยังพบข้อมูลเก่าจำนวนมาก เช่นเดียวกับอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows XP ของไมโครซอฟท์ ที่ลบข้อมูลให้หมดจดได้ยากเย็น
ที่สำคัญ เขายังพบว่า สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ใช้แล้วเหล่านี้ติดไวรัสและมีซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายแฝงอยู่ ซึ่งหากนำไปใช้ ข้อมูลส่วนบุคคลก็จะตกอยู่ในอันตราย
หมายความว่า หากใครคิดจะซื้ออุปกรณ์อัจฉริยะมือสองต่อจากคนอื่น ควรชั่งน้ำหนักว่าคุ้มกับความเสี่ยงไหม และถ้าเกิดเบื่อเจ้าเครื่องเก่า ให้ทำวิธีไหนก็ได้ จะใช้สว่านเจาะรูให้ทั่ว ทุบให้แตก แช่น้ำเค็มให้พัง แต่ไม่ใช่การขายต่อ
ที่มา – bangkokbiznews