Google ปล่อยระบบปฏิบัติการ Android 10 Q เวอร์ชั่น Beta 3 ออกมาให้อัพเดทแล้ว ก่อนที่เวอร์ชั่นสมบูรณ์จะพร้อมใช้งานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ โดยมาพร้อมคุณสมบัติใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย และเราได้รวบรวมมาให้แล้ว ส่วนจะมีฟีเจอร์อะไรที่น่าสนใจบ้าง เลื่อนลงมาอ่านกันได้เลย
Dark Theme
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานต้องการมากที่สุด ไม่ใช่เพียงเจ้าของอุปกรณ์ Android แต่ยังรวมถึงผู้ใช้งาน macOS, Windows 10 และ iOS ซึ่ง iOS มีข่าวลือว่าจะรองรับในช่วงปลายปีนี้ แต่ตอนนี้มาถึงแล้วบนอุปกรณ์ Android
Dark Theme ใน Android Q สามารถเปิดหรือปิดการใช้งานได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ในส่วนของ Quick Settings เมื่อดึงเมนู Quick Settings ลงมา ก็สามารถเปิดหรือปิดการใช้งานได้ทันที ที่ไอคอน Dark Theme เมื่อเปิดใช้งาน User Interface จะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีดำจริงๆ ไม่ใช่สีเทาเข้ม ดังนั้น ในทางเทคนิค Dark Theme จะช่วยให้อุปกรณ์ Android ประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น
Dark Theme ครอบคลุมการใช้งานบนแอพพลิเคชั่นพื้นฐานของ Android ส่วนแอพพลิเคชั่นจาดบุคคลที่สาม Google ได้สร้าง API ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้นำไปใช้กับแอพพลิเคชั่นของตัวเอง เพื่อรับรู้ว่าอุปกรณ์กำลังเปิดใช้งาน Dark Theme
การนำทางและปุ่มย้อนกลับ
Android Q มาพร้อมระบบนำทางใหม่ (หมายถึงวิธีควบคุมการเลื่อนหน้าจอหรือเข้าถึงเมนูต่างๆ ไม่ใช่ระบบนำทางในแผนที่) ด้วยการใช้ท่าทาง หรือ Gesture โดยมีตัวบ่งชี้เป็นเส้นสีขาวบางๆ ที่ด้านล่างของหน้าจอ (คล้ายกับ iPhone รุ่นใหม่ๆ)
เมื่อปัดตัวบ่งชี้ขึ้นไปจะเป็นการกลับสู่หน้าจอโฮม, ปัดนิ้วไปทางซ้ายหรือขวา เพื่อสลับแอพที่เปิดค้างไว้ได้อย่างรวดเร็ว หรือ ลากขึ้นไปตรงกึ่งกลางก็จะพบกับมุมมอง Multitasking และสามารถเข้าถึง App Drawer เพียงปัดนิ้วขึ้นด้านบน จากหน้าจอโฮม
สำหรับการย้อนกลับ สามารถแตะที่ขอบด้านข้างของจอแสดงผลทั้งด้านซ้ายหรือขวา แล้วปัดเข้ามา ซึ่งจะมีสัญญาณ < ปรากฏขึ้นมาด้วย
การอัพเดทซอฟต์แวร์ความปลอดภัย
Google พยายามปล่อยแพตช์รักษาความปลอดภัยออกมาให้ทุกๆ เดือน แต่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนทุกรุ่นจะได้รับการอัพเดท เนื่องจากขึ้นอยู่กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในแต่ละแบรนด์จะทำการอัพเดทให้ และปล่อยออกมาให้กับสมาร์ทโฟนเพียงบางรุ่น
เพื่อลดความซับซ้อน Google จึงสร้างวิธีการใหม่ และเรียกว่า Project Mainline ด้วยการตัดตัวกลางอย่างผู้ผลิตสมาร์ทโฟนออกไป และให้เจ้าของอุปกรณ์อัพเดทแพตช์รักษาความปลอดภัยแบบรายเดือนได้โดยตรงจาก Google ผ่านโครงสร้าง Play Store คล้ายกับการอัพเดทแอพ Chrome บนอุปกรณ์ Android
สำหรับอุปกรณ์ Android ที่ไม่รองรับ Play Store อย่างเช่นสมาร์ทโฟนในประเทศจีน Google จะทำงานร่วมกับบริษัทเหล่านั้น เพื่อหาวิธีกระจายซอฟต์แวร์ออกไปให้เร็วที่สุด
การอนุญาตและความเป็นส่วนตัว
Google มีการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน Android อย่างสม่ำเสมอ และล่าสุด Google พยายามแก้ไขการเข้าถึงตำแหน่งในอุปกรณ์ Android โดยให้ตัวเลือกจำกัดการเข้าถึงตำแหน่งของแอพต่างๆ เมื่อจอแสดงผลเปิดอยู่เท่านั้น และผู้ใช้งานจะได้รับการแจ้งเตือนหากมีแอพใดเข้าถึงตำแหน่ง
นอกจากนี้ Google จะเพิ่มเมนู Privacy ไว้ที่ส่วนบนของการตั้งค่า ซึ่งเป็นแผงควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และยังมีศูนย์ควบคุมการให้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานตรวจสอบการใช้สิทธิ์ของแอพพลิเคชั่นทั้งหมดได้ง่ายขึ้น รวมถึงการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงได้จากส่วนนี้
Live Caption
ฟีเจอร์ Live Caption มีส่วนคล้ายกับ Subtitle โดยจะขึ้นข้อความตามเสียงพูดแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าเสียงนั้นจะมาจากแอพพลิเคชั่นใด จะมาเฉพาะเสียง หรือเป็นเสียงจากวีดีโอ โดยใช้ระบบ Machine Learning ไม่ต้องผ่าน Cloud นั่นหมายถึง ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
Live Caption ถูกเก็บไว้ในการตั้งค่า Accessibility ของอุปกรณ์ Android เมื่อเปิดใช้งาน จะแสดงกล่องข้อความสีดำ เพื่อให้ผู้ใช้งานอ่านข้อความแทนการฟัง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด, วีดีโอจาก YouTube รวมถึงวีดีโอที่อยู่ใน Camera Roll
ฟีเจอร์ Live Caption มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการได้ยิน หรือผู้ใช้งานที่ต้องการชมวีดีโอ แต่ไม่ต้องการเปิดเสียงรบกวนผู้อื่น
Parental Controls และ Focus Mode
ปีที่แล้ว Google แนะนำแผงควบคุม ที่ช่วยให้ผู้ใช้งาน Android สามารถตรวจสอบว่าระยะเวลาที่ใช้งานแอพต่างๆ รวมทั้งจำกัดเวลาแอพเหล่านั้น อีกทั้งยังมีโหมด Wind Down เปลี่ยนหน้าจอให้เป็นสีเทา เพื่อเตือนว่าได้เวลาเข้านอน หรือถึงเวลาที่ต้องพักสายตาจากอุปกรณ์
ในปีนี้ Google ได้ขยายฟีเจอร์ที่เรียกว่า Digital Wellbeing ออกแบบมาให้ผู้ปกครองสามารถควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ของเด็กๆ ผ่านแอพ Family Link โดยเฉพาะฟีเจอร์ 5 more minutes ที่ช่วยให้ผู้ปกครองยืดระยะเวลาการใช้งานอุปกรณ์ออกไป สำหรับเด็กดื้อรั้นหรือไม่เชื่อฟัง
นอกจากนี้ยังมี Focus Mode ช่วยให้ผู้ใช้งานเลือกรายชื่อแอพที่พบว่าทำให้เสียสมาธิหรือมีการล่อลวง เมื่อเปิดใช้งานใน Focus Mode แอพเหล่านั้นจะกลายเป็นสีเทา และการแจ้งเตือนจากแอพเหล่านั้นจะถูกซ่อน
การแจ้งเตือน
Android Q ได้เปลี่ยนวิธีการแจ้งเตือนใหม่ ในเวอร์ชั่น Beta พบว่าผู้ใช้งานไม่สามารถยกเลิกการแจ้งเตือนด้วยการปัดไปทางซ้ายหรือขวาได้อีกแล้ว แต่จะสามารถปัดเพื่อลบการแจ้งเตือนได้ในทิศทางเดียว ส่วนอีกทิศทางจะเป็นการใช้ตัวเลือกอื่น อย่าง Snoozing หรือ เปลี่ยนการตั้งค่า
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการแจ้งเตือน คือ ระบบตอบกลับอัจฉริยะ โดยอ้างอิงตามบริบทของข้อความที่ผู้ใช้งานได้รับ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนส่งข้อความมาเป็นที่อยู่ ผู้ใช้งานสามารถกดตอกลับด้วยข้อความ Be right there ได้ทันที หรือมีอีกปุ่มที่ช่วยให้เข้าถึง Google Maps
นอกจากนี้ Google ยังมีแผนนำฟีเจอร์ใหม่ๆ มาใช้ในอนาคต อย่างเช่น Notification Assistant ช่วยจัดเรียงลำดับความสำคัญของการแจ้งเตือน และมีระบบตอบกลับอัตโนมัติ อีกทั้งยังมีการแจ้งเตือนแบบ Bubbles คล้ายกับ Chat Heads ของ Facebook Messenger
ที่มา – The Verge
https://www.flashfly.net/wp/250480