ถ้าจะพูดเรื่องของเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบัน แน่นอนว่าทุกคนใช้เครือข่าย 4G หรือ 3G กันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นค่ายมือถืออะไรก็ตามก็สามารถให้บริการด้วยนี้ได้ แต่เคยสงสัยมั้ยว่า แม้จะเป็นเทคโนโลยีเดียวกัน แต่ทำไมใช้งานแล้วได้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ทั้งความเร็วของเน็ต ความชัดของการโทร ความแรงของสัญญาณ
คำตอบก็คือแต่ละค่ายมีการพัฒนาเทคโนโลยีหลังบ้านที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง ในมุมผู้บริโภคเราสัมผัสได้จากการใช้งานจริง แต่ในทางเทคนิคแล้วยังมีอะไรซ่อนอยู่อีกมากมาย ซึ่งวันนี้เราจะมาเจาะเบื้องลึกกับเบอร์ 1 ของตลาดอย่าง “เอไอเอส” ค้นดูทุกซอกทุกมุมว่าภายใต้คำว่า 4.5G หรือ 3G นั้น มีนวัตกรรมอะไรซ่อนอยู่บ้าง ระบบหลังบ้านของเอไอเอสทำงานกันยังไง เพื่อส่งมอบบริการให้ลูกค้าที่มีกว่า 40 ล้านรายใช้งานได้ต่อเนื่องและเต็มประสิทธิภาพที่สุด
มองไกลกว่าแค่การแข่งขันในประเทศ
“เป้าหมายของเอไอเอส เรามองไกลกว่าแค่การแข่งขันภายในประเทศ แต่เรามุ่งมั่นทำให้คนในแวดวงโทรคมนาคมทั่วโลกต้องหันมองว่า ประเทศไทยคือหนึ่งในผู้พัฒนาคิดค้นนวัตกรรมสื่อสารใหม่ๆ ได้เอง เราจึงท้าทายตัวเอง ด้วยการตั้งธงไว้ว่า จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครือข่ายในระดับแถวหน้าที่มาตรฐานโลกให้การยอมรับ จึงทำให้ทีมงานทุกคนทำงานอย่างหนักเพื่อจะพิสูจน์ตัวเองในสนามระดับโลกนี้ ด้วยแนวคิด Network Innovator ที่ไม่ใช่เพียงการนำเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตของต่างประเทศ มาติดตั้งบนสถานีฐาน และใช้งานเลยแบบรายอื่นๆ แต่เราใช้มุมมองจากพฤติกรรมของลูกค้าคนไทย พื้นที่การอยู่อาศัย เรียกได้ว่าทั้ง Demographic และ Geographic ที่ย่อมไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ แล้วมาออกแบบใหม่อย่างแตกต่าง
เราจึงพิถีพิถันในการปรับประยุกต์ใช้ รวมถึงคิดค้นต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อ Adapt ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานอย่างที่เราเรียกว่า Tailor Made Network โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือมอบประสบการณ์ให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด โดยเฉพาะลูกค้าเอไอเอส ที่จะได้สัมผัสคุณภาพการใช้งานเครือข่ายที่แตกต่างจากคู่แข่งอยู่เสมอ” คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าว
ต้องใช้ได้จริง ไม่ใช่เพียงอยู่ในแล็บทดลอง
“การร่วมมือกับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ทั้งผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายชั้นนำจากทั่วโลก จึงเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างมีเป้าประสงค์ เพื่อมาร่วมกัน Scrum นวัตกรรมที่อยู่ในความคิดของเรา ให้ออกมาเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการทดสอบ สามารถนำไปใช้งานได้จริง มีสมาร์ทโฟนรองรับจริง ไม่ได้เป็นเพียงการนำเสนอแค่ทฤษฎีใหม่ออกมาให้เห็นเท่านั้น ย้อนกลับไปครั้งแรกๆ ที่เราคิดจะทำ พอไปบอกพาร์ทเนอร์ ไม่มีใครคิดว่าเราจะทำมันออกมาได้ เพราะทุกคนเคยชินกับการทำงานแบบเดิม ได้อุปกรณ์มาก็เอาไปติดตั้ง แต่เมื่อเรามุ่งมั่น และทำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ครั้งแล้วครั้งเล่า ดังเช่น เรื่องการพัฒนาเทคนิค 6-sector บนคลื่น 3G 2100 ก็สำเร็จจนเปิดตัวและสามารถใช้งานได้จริงเป็นครั้งแรกของโลก”
“จนกระทั่งตอนนี้ เมื่อเราชวนคู่ค้ามาร่วมกันต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกรายก็ขานรับ และรู้ว่า เราเอาจริงและทำจริง จึงเกิด Innovative ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในวงการเทเลคอมระดับโลก” คุณวสิษฐ์กล่าว
ที่ผ่านมา AIS ได้ทำการประกาศเปิดตัวเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยมีใครพัฒนาขึ้นมาก่อนในโลก หรือเรียกว่าเป็น “World First” ซึ่งหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมที่ประเทศทั่วโลกนำไปใช้ คราวนี้เราลองมาย้อนดู Timeline ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของ AIS ที่โดดเด่นและน่าสนใจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมเจาะลึกถึงรายละเอียดของเทคโนโลยีที่ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลก และครั้งแรกในประเทศไทยไปพร้อมกันเลยดีกว่า
• ปี 2016 เดือนมีนาคม : เปิดตัว 4.5G รายแรกของโลก
AIS ได้นำเทคโนโลยี LTE-U/LAA (License Assisted Access) ซึ่งจะเป็นการรวมคลื่นความถี่ในปัจจุบันที่ได้รับอนุญาต เข้ากับคลื่นความถี่สาธารณะ และเทคโนโลยีขั้นสูง MIMO 4X4 CA, 256 QAM จึงทำให้ AIS 4.5G สามารถรับส่งข้อมูลเร็วกว่าเครือข่าย 4G ถึง 2 เท่า เปรียบเทียบให้เห็นภาพเหมือนกับถนนสายเล็กๆ 2 สาย ที่รวมกันเป็นถนนสายใหญ่สายเดียว ทำให้รองรับรถได้มากขึ้นและวิ่งได้เร็วขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการดาวน์โหลดแรงขึ้น 30% เมื่อเทียบกับ 4G ปกติ โดยเปิดให้บริการแล้ว ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ บริเวณพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น ภายในอาคารและศูนย์การค้า อาทิ ย่านสยามสแควร์, ราชประสงค์
• ปี 2017 เดือนมกราคม : ประกาศความสำเร็จ ครั้งแรกในโลก กับการพัฒนาเทคโนโลยี 4G Massive MIMO 32T 32R ในระบบ FDD เป็นการต่อยอดนวัตกรรมจาก 4.5G เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่ 5G
โดยร่วมกับบริษัทหัวเว่ย เพื่อขยายความสามารถในการรองรับการใช้งาน (Capacity) และทดสอบภายใต้สภาวะแวดล้อมเสมือนจริงที่มีการใช้งานดาต้าในปริมาณสูงหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเทคนิคนี้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานของลูกค้าได้ถึง 5-8 เท่า ด้วยความเร็วสูงสุดเช่นเดิม จากความถี่ปริมาณปัจจุบัน โดยได้มีการทดสอบในพื้นที่จริงแล้ว เพื่อพัฒนาและปรับปรุงในเชิงเทคนิค เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการจริงในอนาคต อาทิเช่น พื้นที่บางเสาธง จ.สมุทรปราการ, พื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมาและพื้นที่บ้านชะอม ต.หนองระเวียง จ.นครราชสีมา
• ปี 2017 เดือนสิงหาคม : เปิดตัวเครือข่าย AIS NEXT G บนเทคโนโลยี Multipath TCP รายแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรายที่ 3 ของโลก ถัดจากตุรกี และเกาหลี
กับการก้าวข้ามขีดจำกัดของคลื่นความถี่มือถือแบบเดิมๆ เป็นเครือข่ายมือถือที่เหนือกว่าความเร็ว 4G และ 4.5G โดยความร่วมมือกับพันธมิตร KT (Korea Telecom) ผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Multipath TCP ที่สามารถรวมความเร็วอินเตอร์เน็ตของเครือข่ายมือถือและเครือข่าย WiFi เข้าด้วยกัน ทำให้พื้นที่ที่มีทั้งเครือข่าย AIS 4G ADVANCED และ AIS SUPER WiFi อยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะสามารถให้ความเร็วในการใช้อินเทอร์เน็ตได้สูงสุดถึง 1Gpbs จึงกลายเป็นเครือข่ายที่เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเปิดให้บริการทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว
• ปี 2018 เดือนกรกฎาคม ประกาศความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับแบรนด์มือถือระบบแอนดรอยด์ทุกแบรนด์ ได้แก่ Huawei , Samsung , Oppo , Vivo , Sony , LG ,Xiaomi , Honor และ OnePlus พัฒนาซอฟท์แวร์ที่ทำให้สมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่น รองรับแอปฯ NEXT G ทำให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ เวอร์ชั่น 7.0 ขึ้นไป ซึ่งมีกว่า 15 ล้านเครื่องในท้องตลาด สามารถเข้าใช้งานเครือข่าย NEXT G ได้ โดยต้องใช้งานกับแพ็กเกจ NEXT G ด้วย
บน Timeline ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย AIS นั้นไม่ได้มีเพียงแค่เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ยุค 5G ด้วยการพัฒนาเครือข่าย Internet of Things อย่างเต็มรูปแบบ
• ปี 2017 เดือนกุมภาพันธ์ เปิดตัวเครือข่าย NB-loT ครอบคลุมทั่วประเทศ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วเป็นรายแรก และรายเดียวในประเทศไทย มีภาครัฐและเอกชนเลือกใช้บริการต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ปตท , พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค , โคตรอนกรุ๊ป และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น รวมถึงยังได้มี AIS loT Alliance Program กับโครงการความร่วมมือของสมาชิก 700 รายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดการพัฒนา loT Solution และ Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
• ปี 2018 เดือนสิงหาคม เปิดให้บริการเครือข่าย eMTC ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วเช่นกัน ซึ่งทั้งสองเครือข่ายจะทำงานส่งเสริมซึ่งกันละกัน เหมาะกับการใช้งานในโซลูชันส์ที่ต่างกัน
ไม่เพียงแค่การพัฒนาทางด้านนวัตกรรมเครือข่ายเท่านั้น แต่เทคโนโลยีของ AIS ยังมีการพัฒนาเพื่อตอบสนองกับการใช้งานทางด้าน Voice หรือเคลื่อนที่
• ปี 2017 เดือนพฤศจิกายน : เปิดตัวเทคโนโลยี EVS ซึ่งเป็นการเทคโนโลยีการพัฒนาที่ทำให้การใช้งานเสียงมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเสียงที่มีคุณภาพเหนือระดับกว่า HD-Voice นั่นเอง
ล่าสุด เดือนสิงหาคม 2018 นี้ ก็เกิดการขยับตัวที่สะเทือนอุตสากรรมอีกครั้งใหญ่ เมื่อเอไอเอสประมูลได้คลื่น 1800 MHz เพิ่มมาทำให้มีคลื่นยาวต่อเนื่องกันแบบ Super Block จำนวน 40 MHz (20 MHz x 2) ครั้งแรกในประเทศ
ซึ่งเมื่อเราได้ย้อนดูไทม์ไลน์การคิดค้น และพัฒนาเครือข่ายของเอไอเอสแล้วนั้น สิ่งที่น่าจับตาที่สุด คือ เมื่อเอไอเอสได้คลื่นเพิ่มมาครั้งนี้ จะนำมาต่อยอดเป็นอะไร ที่เราคาดไม่ถึงได้อีกบ้าง
สรุป
Point สำคัญที่ทำให้เอไอเอสไปได้ไกลกว่าคู่แข่ง คือการไม่เคยหยุดรอ และเลือกที่จะพุ่งตัวลงไปสนามนวัตกรรมนี้อย่างจริงจัง แน่นอนว่า การคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเองนั้น ต้องลงทุน และลงแรงอย่างมหาศาล แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ยิ่งกว่าคุ้มค่า และจากผลงานในเวทีระดับโลกทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า นวัตกรรมด้านสื่อสารโดยคนไทย ก็สามารถก้าวสู่มาตรฐานโลกได้เช่นกัน