เอไอเอส ประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจน พร้อมก้าวสู่การเป็น Digital Platform for Thais เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งแก่ประเทศ
– เพราะ IoT จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่พลิกโฉมการใช้ชีวิต ตลอดจนรูปแบบการให้บริการ การบริหารจัดการองค์กรจากทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีกขั้น เอไอเอสจึงเตรียม 2 เครือข่ายเพื่อ IoT โดยเฉพาะคือ Narrow Band IoT และ eMTC – Enhance Machine Type Communication เริ่มต้นทั่วกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 9 จังหวัด รวมไปถึงยกระดับเครือข่าย Data ทั่วประเทศสู่ Next G Network ที่รองรับการใช้งานระดับ 1 GB
– เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เอไอเอส จึงประกาศเจตนารมณ์การเป็น Digital Platform for Thais ด้วยการเปิดตัว 3 แพลตฟอร์ม คือ 1. AIS IoT Alliance Program (AIAP) 2. VDO Platform “Play 365” 3. VR Content Platform เพื่อเป็นแกนกลางสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพัฒนาบริการตอนนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเน้นการยกระดับขีดความสามารถและสร้างโอกาสใหม่ๆ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวในงานสัมมนา “Digital Intelligent Nation 2018” ว่า “จากความพร้อมของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมกันพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิต และการดำเนินกิจการเทียบเท่ากับระดับสากล ทำให้ปีนี้คือช่วงเวลาสำคัญที่เราคนไทยจะต้องผนึกกำลังสร้างสรรค์ Digital Platform เพื่อประเทศไทย อันจะเป็นการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลภาพรวมได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
“ปี 2560 ที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงเติบโตถึง 4%(สูงกว่า GDP), อัตราการเติบโตของการใช้งานเฉลี่ย Mobile Internet ต่อบุคคล เพิ่มขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับปี 2559, โดยปี 2560 ที่ผ่านมาคนไทยใช้งานดาต้ามากถึง 7.3 GB ต่อคนต่อเดือน และใช้เวลาอยู่บน Social Network เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% คือ วันละประมาณ 4.8 ชั่วโมง, มากกว่า 41 ล้านคนชม VDO Streaming บนมือถือ โดย 80% ส่วนใหญ่ เป็น Local Content, องค์กรเริ่มหันใช้ Cloud เป็นมาตรฐานใหม่ในการยกระดับการบริหารจัดการ ซึ่งในส่วนของ เอไอเอสเอง ได้พัฒนาเครือข่ายและบริการเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมงบลงทุนด้านเครือข่ายกว่า 35,000 – 38,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายมือถือสู่ Next Generation ที่รองรับความเร็วถึง 1 GB, การขยายเครือข่าย NB-IoT และ eMTC เพื่อรองรับ IoT และเอไอเอส ไฟเบอร์ รวมถึงการนำ VDO Content ใหม่ๆ ทั้งจากระดับโลก อย่างซีเอ็นเอ็น และการ์ตูนเน็ตเวิร์ค รวมไปถึงจากสุดยอดผู้ผลิต Content ของไทยเช่นกัน ตลอดจนการเข้าไปซื้อหุ้นซีเอสล็อกซ์อินโฟ ก็จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”
นายสมชัย กล่าวย้ำว่า “การเติบโตเพียงอุตสาหกรรมสื่อสาร ไม่อาจช่วยยกระดับประเทศให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นภาคเอกชนจึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform เพื่อประเทศไทย ในฐานะแกนกลางสนับสนุน เชื่อมต่อทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อขยายขีดความสามารถเหล่านั้นผ่านดิจิทัลสร้างการเติบโตสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเริ่มต้นใน 3 แพลตฟอร์มสำคัญ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย
1. AIS IoT Alliance Program – AIAP : โครงการความร่วมมือของสมาชิก 70 รายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ, Product, Service หรือ Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution/Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ขยายประโยชน์สู่ภาคประชาชน เสริมการบริหารจัดการในทุกภาคส่วน
2. The Play 365 : Local VDO Platform ที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน สื่อมวลชน นักสร้างสรรค์ Content ทุกวงการสามารถนำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยทุกคน พร้อมโครงสร้างรายได้และโมเดลที่เหมาะสม สอดคล้องกับตัวเลขผู้ชมที่แท้จริง
3. AIS IMAX VR : VR Content Platform ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนา VR Content สามารถเรียนรู้จากผู้ผลิต VR อันดับหนึ่งของโลกอย่าง IMAX พร้อมโครงการ VR Content Creator Program ที่เอไอเอสได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีของการสร้าง Content VR ให้กับอุตสาหกรรม
“เอไอเอสเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า นี่คือหนทางสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และจะสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายของภาครัฐในการนำพาประเทศไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมขีดความสามารถทางการแข่งขันที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ” นายสมชัยย้ำตอนท้าย
หมายเหตุ : เครือข่าย eMTC – enhanced Machine-Type Communication เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีเครือข่ายมาตรฐาน ที่ควบคู่กับเทคโนโลยี NB-IoT โดยมีคุณสมบัติเสริมซึ่งกันและกัน อาทิ eMTC สามารถสนับสนุนการใช้งาน IoT แบบเคลื่อนที่ เช่น Connected Car รวมถึงสามารถรับ/ส่ง ข้อความเสียงในอุปกรณ์ IoT ยุคใหม่ๆ ได้อีกด้วย ในขณะที่ NB-IoT จะเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานของอุปกรณ์และสามารถสื่อสารได้ในระยะไกล อย่างไรก็ตามด้วยมาตรฐาน 3GPP ได้ออกแบบให้ eMTC และ NB-IoT สามารถใช้งานร่วมกับ 5G ในอนาคตด้วย จึงมั่นใจได้ว่า จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ในระยะยาว