เป็นเวลากว่า 10 ปี นับจากวันแรกที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้ทดลองนำ iPad เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ได้มีโครงการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรครู รวมไปถึงการบูรณาการนำ iPad มาเป็นสื่อการเรียนการสอนหลักในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้นและสนุกไปกับการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น
ครูคือหัวใจสำคัญอันดับแรก
อาจารย์พรรณงาม ใจรักษ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เผยถึงเป้าหมายของโครงการในการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพของบุคลากรครูและนักเรียน รวมไปถึงพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเริ่มจากการสร้างครูให้เป็น iTeachers ที่ไม่เป็นเพียงแค่ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยี แต่ยังสามารถเป็นผู้ออกแบบหลักสูตร พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการคัดสรรแอพ อุปกรณ์ และวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาและนักเรียนในแต่ละระดับชั้นได้
ในปัจจุบันโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 1,500 คน และมีบุคลากรครูประมาณ 110 คน ในเบื้องต้นทางโรงเรียนได้จัดฝึกอบรมครูต้นแบบประมาณ 40 คน จากทุกกลุ่มสาระวิชาในทุกระดับชั้นเรียน เพื่อเรียนรู้ ฝึกฝน และฝึกออกแบบสื่อการสอนด้วย iPad และแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนโดยมี iPad Air 2 และ iPad Pro จำนวน 40 เครื่องสำหรับให้ครูใช้ในการพัฒนาหลักสูตร และอีก 80 เครื่องสำหรับนักเรียนให้หมุนเวียนใช้ในคาบเรียน
ประสิทธิภาพการเรียนการสอนที่วัดผลได้
ครูต้นแบบทั้ง 40 คนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยเพื่อเข้าอบรมและฝึกฝนทักษะในช่วงเย็นหลังเสร็จสิ้นการสอนในแต่ละวัน โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์และความเข้าใจด้านการเรียนการสอนมาช่วยดูแลและฝึกอบรมให้อย่างใกล้ชิด กลุ่มครูต้นแบบจะมีการแบ่งปันความรู้ เทคนิค และผลตอบรับจากนักเรียนต่อหลักสูตรของตนให้แก่กัน รวมไปถึงกระจายความรู้และประสบการณ์ที่ได้ให้กับครูคนอื่นๆ ในโรงเรียน ทำให้มีการพัฒนาศักยภาพของตัวผู้สอนและหลักสูตรการเรียนอยู่ตลอดเวลา
ในช่วงแรกของโครงการ ทางโรงเรียนได้มีการจัดห้องเรียนทดลอง 1 ห้องที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองของนักเรียนได้เข้ามาเยี่ยมชมการเรียนการสอนด้วย iPad เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยประเมินและพัฒนาหลักสูตร และผู้ปกครองยังสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละหลักสูตรวิชาได้ผ่านระบบ E-learning ใน iTunes U เมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนวิชานั้นๆ
นอกจากนี้ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ยังได้จัดให้มีวัน Teacher Showcase เพื่อให้ครูต้นแบบแต่ละท่านได้นำเสนอหลักสูตรที่ตนเองคิดค้นในการบูรณาการการเรียนการสอนด้วย iPad มาเผยแพร่และแบ่งปันให้กับครู สมาคมผู้ปกครอง และตัวแทนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และในทุกๆ วันพุธ ทางโรงเรียนจะมีคลีนิกพิเศษเพื่อคอยตอบคำถามและให้ความช่วยเหลือครูในกรณีที่มีปัญหา ต้องการคำแนะนำหรือการสนับสนุนเพิ่มเติมด้านการใช้งาน iPad แอพพลิเคชั่น หรือเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีอื่นๆ
พัฒนาศักยภาพของนักเรียนอย่างครบวงจร
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม มีเป้าหมายที่จะปลูกฝังและพัฒนานักเรียนให้เกิดทักกษะครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ และความร่วมมือระหว่างกัน โดยการนำ iPad มาประยุกต์ใช้ ช่วยให้การออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ดังกล่าวเป็นไปได้ง่าย น่าสนใจ และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มแอพพลิเคชั่นใน iPad ที่นำมาใช้จะครอบคลุมองค์ความรู้และเปิดโอกาสให้ทั้งครูและนักเรียนได้ใช้ทักษะในการทำพรีเซ้นท์เทชั่น การทำหนังสือ วิดีโอภาพยนตร์ การเขียนโปรแกรม และเนื้อหาอินเทอร์แรคทีฟต่างๆ ช่วยให้ครูและนักเรียนมีปฎิสัมพันธ์ ได้รับความรู้ ความสนุกสนาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง และภาคภูมิใจกับผลงานของตนได้อย่างแท้จริง
ตัวอย่างแอพพลิเคชั่นที่ใช้
ตัวอย่างหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย iPad
ด้วยศักยภาพของ iPad ทำให้การเรียนการสอนมีรูปแบบที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในวิชาภาษาไทย จากการอ่านวรรณคดีจากตัวหนังสือและภาพนิ่งในหนังสือ ก็สามารถอ่านแบบมีเสียงอ่านหรือมีภาพเคลื่อนไหวประกอบได้ หรือการฝึกอ่านทำนองเสนาะ นักเรียนก็สามารถฟังเสียงตัวอย่าง ฝึกซ้อม และอัดเสียงของตัวเองเพื่อฟังและพัฒนาการอ่านได้ดียิ่งขึ้นด้วยตัวเองผ่าน iPad หรือในวิชาวิทยาศาสตร์นักเรียนสามารถทำการทดลองแล้วอัดวิดีโอเป็นแบบ slow-motion เพื่อนำมาสังเกตผลการทดลองในห้องเรียนย้อนหลังแบบละเอียดได้ เป็นต้น
แอพพลิเคชั่นเฉพาะทางต่างๆ ใน iPad ก็ช่วยเพิ่มโอกาสและวิธีการสอนเรื่องที่อาจจะดูไม่น่าสนใจหรือมีความซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น อาจารย์ณัฐชนา มณีพฤกษ์ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี แบ่งปันประสบการณ์การออกแบบหลักสูตรด้วย Keynote และ Kahoot ในการสอนนักเรียนถึงที่มาและวิธีการทำเครื่องดักฝัน (Dream Catcher) โดยเริ่มจากการให้ดูการ์ตูนแอนิเมชั่นถึงที่มาของเครื่องดักฝัน ต่อด้วยภาพการ์ตูนอธิบายวิธีการทำในแต่ละขั้นตอน ชุดคำถามเพื่อทบทวนเนื้อหากับนักเรียน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้โชว์และแชร์ผลงานของตนในระบบออนไลน์ หรือการสอนวิชาการเขียนโค๊ดที่มีความซับซ้อนและอาจจะเข้าใจได้ยากสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา อาจารย์ณัฐชนา ได้นำแอพพลิเคชั่น Swift Playground มาใช้ควบคู่กับการสอนแบบดั้งเดิม โดยให้นักเรียนได้ดูวิดีโอการฝึกเขียนโค๊ด และให้ฝักสังเกตรูปแบบการเขียนโค๊ดต่างๆ เช่น การจะเขียนคำสั่งจำเป็นต้องมีวงเล็บเปิดก่อน ซึ่งการให้ดูวิธีการที่มีเนื้อหาสวยงามดึงดูดใจช่วยให้นักเรียนเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น จากนั้นให้ลองฝึกเขียนโค๊ดใน iPad กระดาษเพื่อเป็นการฝึกและทบทวนก่อนจะฝึกปฏิบัติการเขียนโค๊ดจริงในแอพ Swift Playground ใน iPad และนำเสนอการเขียนคำสั่งให้เพื่อนในชั้นเรียนดู
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการดึงความสนใจ สร้างปฏิสัมพันธ์ และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนมากขึ้น ผู้สอนเองก็สามารถประเมินการรับรู้ ข้อดีและสิ่งที่ควรปรับปรุงผ่านการปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนในชั้นเรียนได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถกลับไปพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการบูรณาการหลักสูตรด้วยเทคโนโลยีและกิจกรรมที่หลากหลายแต่ครอบคลุมทุกการพัฒนาทักษะและกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละวิชานี้ นอกจากจะทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนรู้สึกสนุก มีชีวิตชีวา และให้ความสนใจกับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่แล้ว ยังเป็นการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และสร้างความสุขในชั้นเรียนให้กับครูและนักเรียนได้เป็นอย่างดี
สมดุลแห่งการเรียนการสอน : ความรู้คู่คุณธรรม
ผศ.ทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เผยว่า ทางโรงเรียนมีวิสัยทัศน์และความกระตือรือร้นตลอดเวลาในการพัฒนาสื่งที่ดีที่สุดให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรครูของโรงเรียน การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ช่วยให้โรงเรียนสามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้รวดเร็วและเกิดประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น การที่ Apple ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในเครือข่ายในการช่วยพัฒนาหลักสูตร ให้ความรู้ความเข้าใจ ฝึกอบรม และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในการพัฒนาการศึกษา เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันและเป็นการเติมไฟให้กับครูให้สามารถเรียนรู้และประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งครูและนักเรียนได้ฝึกคิด ลองทำ และใช้ศักยภาพของตนเองควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ครูและนักเรียนจะไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้และผู้รับสารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะเป็นผู้ผลิตองค์ความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างกันและนำไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้จริง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เชื่อมั่นในการสร้างสมดุลระหว่างความ hi-tech และ hi-touch โดยการปลูกฝังความมุ่งมั่น นิสัยใฝ่รู้ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และชาญฉลาด เพื่อให้สามารถขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้อื่นในทุกระดับความสามารถ เพื่อการพัฒนาสังคมในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต