หัวเว่ยเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ในประเด็นที่มีผู้บริโภคร้องเรียนว่าหัวเว่ยจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่น Huawei Mate9 Series และ Huawei P10 Series ไม่ตรงสเป็คของหน่วยความจำ ตามที่โฆษณาไว้ และได้มีการทดสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญ และลูกค้าผู้ร้องเรียนเข้าร่วม
ในการประชุมดังกล่าว ตัวแทนจาก หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ชี้แจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นดังกล่าว ดังนี้
1. มาตรฐาน UFS 2.1 หรือ UFS 2.0 ไม่ได้เป็นชื่อของฮาร์ดแวร์แต่เป็นมาตรฐานอินเทอร์เฟส โดยที่สมาพันธ์ร่วมด้านวิศวกรรมชิ้นส่วนอิเลคตรอน (JEDEC) เป็นผู้กำหนดมาตรฐานดังกล่าว
2. มาตรฐานของทั้ง UFS 2.1 (JEDEC Standard No.220C) และ UFS 2.0 (JEDEC Standard No.220B) มีการกำหนดอัตราความเร็วที่เท่ากัน โดยความเร็วในเชิงทฤษฎีของมาตรฐาน UFS 2.1 จะอยู่ระหว่าง 2496 Mbps – 5830.4 Mbps (249.6 MB/s – 583.04 MB/s)
3. ความแตกต่างระหว่าง UFS 2.1 และ UFS 2.0 คือคุณสมบัติเพิ่มเติมของ UFS 2.1 ที่ไม่มีใน UFS 2.0 อาทิ ฟังก์ชันด้านความปลอดภัย (Cryptographic operation support), ฟังก์ชันเพื่อตรวจเช็คสภาพเครื่อง (Device Health Descriptor) เป็นต้น
4. หัวเว่ยชี้แจงว่า หัวเว่ยฯระบุข้อความ UFS 2.1 ในเว็บไซต์ของหัวเว่ย และเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค หัวเว่ยจึงนำข้อมูลดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ชั่วคราว ซึ่งหลังจากการตรวจสอบแล้ว หัวเว่ยได้นำข้อมูลดังกล่าวกลับขึ้นมาบนเว็บไซต์ และยืนยันว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ Huawei Mate9 Series ทุกเครื่องเป็นไปตามมาตรฐาน UFS 2.1
5. หัวเว่ยชี้แจงว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ Huawei P10 Series ที่จำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมดในตอนนี้ ใช้หน่วยความจำประเภท UFS หากหัวเว่ยจะจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นดังกล่าวที่ใช้หน่วยความจำประเภทอื่นหัวเว่ยจะแจ้งให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบล่วงหน้าแต่อย่างไรก็ตามหัวเว่ยไม่เคยโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประเภทหน่วยความจำที่ใช้ใน Huawei P10 Series ในประเทศไทย
หลังจากชี้แจงข้อมูลในเบื้องต้น หัวเว่ยได้ทำการทดสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ Huawei Mate9 Series ต่อหน้าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมถึงลูกค้าผู้ร้องเรียน
โดยให้ลูกค้าผู้ร้องเรียนเลือกโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่น Huawei Mate9 มาจำนวน 7 เครื่อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสุ่มออกมา 3 เครื่อง และในรุ่น Huawei Mate9 Pro มาจำนวน 4 เครื่อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสุ่มออกมา 3 เครื่อง โดยได้ทำการทดสอบใน 2 ส่วน คือ การทดสอบเกี่ยวกับ RAM LPDDR4 และการทดสอบเกี่ยวกับ ROM มาตรฐาน UFS 2.1 โดยการทดสอบเครื่อง Huawei Mate9 Series ของลูกค้าผู้ร้องเรียนทุกเครื่องผ่านเกณฑ์ความเร็วมาตรฐานทั้งหมดและมีคุณสมบัติเพิ่มเติมของ UFS 2.1
หลังเสร็จสิ้นการให้ข้อมูลและการทดสอบหัวเว่ยได้สอบถามความคิดเห็นจากคณะกรรมการและลูกค้าผู้ร้องเรียน ซึ่งทุกฝ่ายในที่ประชุมไม่มีข้อติดขัดในประเด็น LPDDR4 และมาตรฐาน UFS 2.1 โดยทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้แนะนำทางบริษัทฯให้พิจารณาเรื่องแผนด้านลูกค้าสัมพันธ์ภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมส่งเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับสื่อโฆษณาที่ใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ Huawei Mate9 Series ให้กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตรวจสอบอีกครั้ง
โดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการแจ้งผลการตัดสินให้บริษัทฯทราบต่อไป