ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่มีรายงานว่า Samsung Galaxy Note 7 เกิดระเบิดขึ้น จนนำมาถึงการเรียกคืนครั้งที่ 1 ซึ่ง Samsung ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุว่ามาจากการผลิตของ Samsung SDI โรงงานในเครือตัวเอง แต่ยังไม่จบแค่นั้น หลังจาก Galaxy Note 7 ล็อตใหม่ได้ส่งมอบไปยังลูกค้าอีกครั้ง ก็ยังพบกับปัญหาแบตเตอรี่ระเบิดเหมือนเดิม จนทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวต้องถูกเรียกคืนเป็นครั้งที่ 2 และส่งผลให้ Samsung ตัดสินใจยุติการจำหน่าย Galaxy Note 7 ในที่สุด แต่ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีรายงานถึงสาเหตุการระเบิดที่แน่ชัดออกมาจาก Samsung ทราบแต่เพียงว่าแบตเตอรี่ลัดวงจร
เว็บไซต์ Instrumental ได้นำ Samsung Galaxy Note 7 มาตรวจสอบด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐาน และพบว่าการออกแบบของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้มีส่วนทำให้แบตเตอรี่ระเบิด แม้ระหว่างใช้งานโดยปกติ
แบตเตอรี่ของ Samsung Galaxy Note 7 ถูกออกแบบมาภายใต้ขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากมีการพยายามเพิ่มความจุของแบตเตอรี่ ในขนาดบอดี้ที่ใกล้เคียง Galaxy Note 5 เรือธงก่อนหน้านั้น นั่นทำให้วิศวกรแบตเตอรี่มีงานที่ยากลำบาก เพราะต้องออกแบบให้แบตเตอรี่ Galaxy Note 7 มีความบางมากที่สุด ภายใต้ขนาดที่จำกัด
Samsung Galaxy Note 7 ใช้แบตเตอรี่ Lithium-polymer ประกอบไปด้วยชั้นของขั้วบวก ที่ทำมาจาก Lithium Cobalt Oxide, ชั้นของขั้วลบ ทำมาจาก Graphite และคั่นระหว่างชั้นขั้วบวกกับขั้วลบด้วย Electrolyte-soaked 2 ชั้น ทำมาจาก Polymer
ชั้นของ Polymer จะปล่อยให้ Ion รวมถึงพลังงาน ไหลผ่านระหว่างชั้นของขั้วบวกกับขั้วลบ แต่จะทำหน้าที่ไม่ให้ชั้นของขั้วบวกกับขั้วลบสัมผัสกัน และถ้า 2 ชั้นนั้นเกิดสัมผัสกัน จะทำให้พลังงานที่ไหลเข้าไปในชั้น Polymer เกิดความร้อนสูงขึ้น และเป็นสาเหตุให้ต้องใช้พลังงานมากขึ้นจนแบตเตอรี่ระเบิด
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ชั้นของขั้วบวกกับขั้วลบสัมผัสกัน มาจาก 2 ปัจจัย คือ การผลิตชั้นของ Electrolyte-soaked มีความบางเป็นพิเศษ และ เกิดปัจจัยอื่นที่ทำให้แบตเตอรี่บวม เช่นความเครียดสะสมผ่านแผงหลัง (อาจมาจากการพกสมาร์ทโฟนไว้ที่กระเป๋าหลังและนั่งทับ) ความดันที่มากพอจะส่งผลให้ชั้นของขั้วบวกกับขั้วลบสัมผัสกันได้ เพราะชั้น Polymer ที่มีความบางอยู่แล้ว
Instrumental ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การสร้างนวัตกรรมใหม่ของ Samsung อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่กำลังพัฒนาและวิจัย รวมทั้งกระบวนการผลิตแบตเตอรี่รุ่นใหม่ล่าสุด เป็นไปได้ว่าช่วงเวลาทดสอบน้อยเกินไป และไม่ได้มีการทดสอบในสภาวะรุนแรง
ที่มา – Instrumental
http://www.flashfly.net/wp/?p=166624