เอไอเอสลุยขอทดลอง 4 จีแล้ว ส่งดีพีซีบริษัทในเครือประกบ กสท ขออนุมัติทดลอง 4 จี LTE บนคลื่น 1800 MHz โชว์เหนือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของไทย หลังเห็น กสท เปิดกว้างให้โอกาสใหม่ค่ายทรู ก็ควรสนับสนุนดีพีซีในฐานะคู่สัญญาเช่นกัน ด้าน กสท ขยับตอบ 14 คำถาม สตง.แล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทางบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือดีพีซี บริษัทย่อยของบริษัท แอดวานซน์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในฐานะผู้รับสัมปทานให้บริการบนคลื่น 1800 MHz จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก กสท เพื่อทดสอบการให้บริการมือถือในยุค 4 จี ด้วยเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) นับเป็นผู้ให้บริการไทยรายแรกที่ก้าวเข้าสู่การทดสอบมือถือในยุค 4 จี ทั้งนี้ การเดินหน้าทดสอบ 4 จี ของกลุ่มเอไอเอส เกิดขึ้นหลังจากที่ กสท ได้ทำสัญญาเพื่อให้บริการมือถือ 3 จี รูปแบบใหม่กับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าเมื่อ กสท เปิดโอกาสให้กลุ่มทรูสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ก็น่าที่จะเปิดโอกาส และสนับสนุนให้ดีพีซี ในฐานะคู่สัญญาเช่นกัน เดินหน้าทดสอบเทคโนโลยีที่ก้าวไปอีกขั้นได้
โดยปัจจุบันมีผู้ผลิต อุปกรณ์เทคโนโลยี LTE ที่ให้บริการบนคลื่น 1800 MHz อยู่หลายราย ไม่ว่าจะเป็นหัวเว่ย, แซดทีอี (ZTE) รวมทั้งอีริคสัน แม้ว่าขณะนี้ต้นทุนการให้บริการยังอยู่ในระดับสูง เหมือนเทคโนโลยี 3 จี ในระยะแรกๆ แต่คาดว่าในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ราคาอุปกรณ์จะลดต่ำลงในที่สุด
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ดีพีซีแผนที่จะกันคลื่นไว้สำหรับทดสอบ 4 จี ทั้งสิ้น 10 MHz จากปริมาณคลื่นที่ได้รับภายในใต้สัมปทานจำนวนทั้งสิ้น 12.5 MHz เปรียบเทียบกับเอไอเอสซึ่งอยู่ภายใต้สัมปทานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้สิทธิ์ใสห้บริการบนคลื่น 900 MHz ทั้งสิ้น 17.5 MHz และกันคลื่นจำนวน 5 MHz ไว้ให้บริการ 3 จีในปัจจุบัน เนื่องจากบริการ 4 จี เป็นบริการความเร็วสูงกว่าร จึงต้องการปริมาณคลื่นรองรับที่มากกว่า แม้ว่าดีพีซีจะมีเป้าหมายในการทดสอบบริการครอบคลุมราว 7 – 8 สถานีฐานเท่านั้น และจะใช้เวลาในการทดสอบราว 90 วัน
ด้าน ความคืบหน้าเกี่ยวกับสัญญาใหม่ของ กสท และค่ายทรู ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) นั้น ล่าสุดปรากฏว่า ทาง กสท ได้ส่งหนังสือเพื่อตอบคำถามสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้ตั้งข้อสงสัยภายใต้สัญญาดีงกล่าวทั้งสิ้น 14 ข้อ ด้วยกันแล้ว โดยยืนยันยันว่าการลงนามในสัญญากับทรูเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2554 ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการเร่งรัด และได้ทำการศึกษา และวิเคราะห์ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเป็นรยะเวลากว่า 4 เดือน ที่สำคัญคณะกรรมการ (บอร์ด) กสท ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่นี้ นอกจากจะยุติการขาดทุนจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอแล้ว ยังจะสร้างรายได้ให้ กสท ในอนาคตด้วย สำหรับประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องคลื่นความถี่นั้น กสท ไม่ได้ให้สิทธิ์ในคลื่นแก่กลุ่มทรู และ กสท เป็นผู้ใช้คลื่นความถี่ด้วยตนเอง ส่วนการประเมินมูลค่าคลื่นนั้น หากยังทำธุรกิจระบบซีดีเอ็มเออยู่ จะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากคลื่นที่มีอยู่ได้ ทั้งที่ยังเหลืออายุสัญญาอีก 5 ปี ดังนั้น การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ จะไม่หยุดยั้งความเสียหาย และในทางกลับกันก็สร้างความแข็งแกร่งให้ กสท ด้วย
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่ 19410 วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554