เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Intel IoT Solutions Conference 2015” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ในยุคไอที การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนา ณ โรงแรมคอนราด เพลินจิต กรุงเทพมหานคร
ในปัจจุบันได้มีนโยบายนำเทคโนโลยี IoT มาใช้เพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีปฏิบัติการต่างๆ ให้เป็นระบบอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาคารและบ้านอัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อธุรกิจค้าปลีก เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงภาครัฐ เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อนำไปสู่คุณภาพในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน นอกจากนี้เทคโนโลยี IoT ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางหรือการขนส่งผ่านการบริหารจัดการด้วยระบบคลาวด์ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ระบบคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Transportation)
นายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แนะว่าประเทศไทยมีโอกาสสูงในการปรับใช้เทคโนโลยี IoT เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนมีการพัฒนาโครงสร้างด้านการสื่อสารและการคมนาคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสนธิญา ยังได้กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปของอินเทลในการเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี IoT สู่สังคมโดยรวม นั่นคือการปรับปรุงและเสริมสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเชื่อมโยงเทคโนโลยี IoT สู่เครือข่ายออนไลน์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคลาวด์เพื่อเป็นฐานเก็บข้อมูล หรือการสรรหาวิธีลดต้นทุนการผลิตที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างคุณค่าทางตลาดของเทคโนโลยีชนิดนี้ได้ อินเทลยังมุ่งที่จะผลักดันความร่วมมือกับหลากหลายองค์กรผู้บุกเบิกทางด้าน IoT เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานสากลในอุตสาหกรรมและแสวงหาโซลูชั่นต่างๆ ที่จะสามารถนำไปสู่การสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบปฎิบัติงานต่างๆ (interoperability) ของเทคโนโลยี IoT จากแต่ละองค์กรได้ราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น และอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญคือ การเร่งขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เทคโนโลยี IoT ซึ่งอินเทลมีบทบาทในการคิดค้นและนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆ สู่ท้องตลาดและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การขนส่ง อย่างต่อเนื่อง
ภายในงานได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาของการปรับใช้เทคโนโลยี IoT ในประเทศไทย โดยได้นำเสนอโครงการ All Thai Taxi ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท นครชัย แอร์ จำกัด และ บริษัท ไอทีเอส คอนซัลแตนซี จํากัด โดยได้รับการสนับสนุนจากอินเทล ประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยี IoT มาช่วยเพิ่มประสิทธิผลจากการดำเนินธุรกิจรถแท็กซี่โดยสารในกรุงเทพฯ รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเมืองอัจฉริยะ (Smart City Research Center) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีเอส คอนซัลแตนซี จํากัด ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาและออกแบบระบบแท็กซี่อัจฉริยะของ All Thai Taxi ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการใช้ IoT ในการคำนวณระยะเวลาและเส้นทางการเดินรถแต่ละคัน และเชื่อมต่อเข้ากับข้อมูลการจราจร และข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้แท็กซี่ทุกคันเดินรถอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากรถของ All Thai Taxi ทั้งหมดเพื่อการบริหารจัดการการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาของ บริษัท ยูนิ-แอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทสัญชาติไทยที่ริเริ่มการใช้เทคโนโลยี IoT ในการยกระดับธุรกิจ โดย ดร.ณรัณ ศิริสันธนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-แอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงประสิทธิภาพของ IoT ในการยกระดับสมรรถภาพของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ (Chiller) โดยสามารถควบคุมอุณหภูมิและประหยัดพลังงานได้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้ เนื่องจากผู้ใช้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลในระบบคลาวด์เพื่อพิจารณาการใช้เครื่องปรับอากาศในแต่ละส่วนของอาคารสำนักงานหรือโรงงานอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานะของเครื่องปรับอากาศเพื่อให้สามารถคาดการณ์เวลาที่เหมาะสมในการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เทคโนโลยี IoT ยังคงมีความท้าทายในการปรับใช้บางประการ โดยเฉพาะด้านการปกป้องข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัยเมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆผ่านอินเตอร์เน็ต การบูรณาการโครงสร้างเครือข่ายไอทีและระบบปฎิบัติงานต่างๆระหว่างอุปกรณ์ IoT แต่ละชิ้น หรือความยากในการวัดผลความสำเร็จด้านการลงทุนจากเทคโนโลยีชนิดนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี IoT มีศักยภาพสูงในการนำเสนอระบบการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนและประหยัดทรัพยากรได้
คาดว่าในปี 2558 จะมีอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ได้แล้วกว่า 15 พันล้านชิ้นทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นถึง 50 พันล้านชิ้นภายในปี 2563 ดังนั้นการปรับใช้เทคโนโลยี IoT จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนอีกต่อไป และประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ควรเร่งเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเชื่อมโยงของระบบ IoT