จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยในปี 2558 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนในยุคนี้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึงตลอด 24 ชั่วโมง โดยกิจกรรมยอดนิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ อันดับ 1 ได้แก่ การใช้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 82.7% อันดับ 2 คือ ใช้ในการสืบค้นข้อมูล 56.6% และอันดับ 3 คือ การใช้ติดตามข่าวสารในรูปแบบหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ 52.2%
จากความหลากหลายของการใช้โซเชียลมีเดียในกิจกรรมของสังคมและประชาชน ทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเข้ามาใช้เป็นช่องทางในการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่ของการหลอกลวง การค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้น ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจึงควรตระหนักถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดี การเช็คอินผ่านเฟซบุ๊ก อาจทำให้มิจฉาชีพทราบได้ว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กอยู่ที่ใดหรือที่อยู่อาศัยไม่มีผู้ใดอยู่ การแชร์รูปแบบส่วนตัวในสถานะสาธารณะ การตั้งโชว์ค่าสถานะในสังคมออนไลน์เป็นสาธารณะ หรือการให้ข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
นอกจากนั้น ในช่วงนี้ยังมีการแพร่กระจายไวรัสบนเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแพร่กระจายรูปภาพลักษณะลามกอนาจาร และมีการเชื่อมโยงรูปภาพดังกล่าวไปยังการลงแอปพลิเคชันบนเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้คลิกลิงค์ดังกล่าวกระจายภาพไม่เหมาะสม โดยตนเองไม่ได้แชร์ภาพเหล่านั้นและแชร์เองอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงไอซีทีขอแนะนำว่า ผู้ใช้บริการไม่ควรคลิกลิงค์จากแหล่งที่ไม่รู้จัก เนื่องจากลิงค์เหล่านั้นมาในรูปแบบของโปรแกรมที่น่าสนใจต่างๆ โดยมีลักษณะคือ เมื่อคลิกลิงค์เข้าไปแล้วจะเกิดการแท็ก (tag) ภาพหรือวิดีโอที่มีลักษณะลามกอนาจาร หรือโฆษณาต่างๆ ไปยังกลุ่มเพื่อนของบุคคลนั้นๆ และในกรณีที่พบว่าได้มีการติดไวรัสบนเฟซบุ๊กแล้ว มีแนวทางการแก้ไขดังนี้
1. เข้าไปที่การตั้งค่า
2. ไปที่แถบแอปพลิเคชัน
3. เลือกแอปพลิเคชันที่สงสัยทั้งหมด แล้วคลิกที่รูปกากบาทเพื่อลบแอปพลิเคชันออก
4. เปลี่ยนรหัสผ่าน
“การใช้โชเชียลมีเดียควรตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์และวิธีป้องกันซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งการถูกล่อลวง และการใช้ที่ไม่เหมาะสม รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะที่ในทางบวกก็มีประโยชน์มากมาย เช่น การใช้โซเชียลมีเดียทำการค้าขายสินค้า หรือทำธุรกิจ e-Commerce ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย” นางทรงพร กล่าว