3 ค่าย มือถือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูมูฟ เอช ผสานเสียงสนับสนุนและแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมการประมูลคลื่น 4G ในปี 2558 เพื่อสนองตอบนโยบายและแนวคิดของรัฐบาลที่ก้าวสู่เศรษฐกิจ ดิจิทัล โดย เอไอเอส มั่นใจ ไทยต้องมี Telecom Infrastructure โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบเทคโนโลยีใหม่ (Technology & Trend) ส่วน ดีแทค เน้นย้ำ 4G มีประโยชน์ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม นำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการติดต่อสื่อสารสู่ทั้งสังคมเมืองและชนบททั่วประเทศไทย ขณะที่ ทรูมูฟ เอช เชื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม เพื่อเตรียมประเทศไทยก้าวสู่ระดับภูมิภาคและพร้อมเป็นศูนย์กลางของ AEC
ทั้ง 3 ค่ายมีความเห็นร่วมกันในประเด็นสำคัญๆ เกี่ยวกับการจัดการประมูลปี 2558 ดังนี้
- การประมูลคือทางออกของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วน
- การจัดสรรการให้บริการดาต้าที่มีคุณภาพสูงตอบสนองกับความต้องการคลื่นที่มากขึ้น การประมูลคลื่นความถี่ในปี พ.ศ. 2558 ควรจะประมูลคลื่นที่นำมาจัดสรรได้มากที่สุดทั้งความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz ที่อยู่ในแผนแค่นั้น แต่ควรนำคลื่น 1800MHz อีกจำนวน 25MHz ที่ดีแทคแสดงความประสงค์ที่จะมอบคืนเพื่อนำไปประมูลร่วมกัน
- สำหรับการให้บริการ 4G ไม่ใช่เพียงแค่คลื่นความถี่สูง 1800MHz เท่านั้น แต่ควรต้องรวมถึงย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850MHz และ 900MHz ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกนำมาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการนำคลื่นความถี่ซึ่งทรัพยากรของประเทศมาใช้งานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- คลื่นความถี่ทั้งหมดที่จะถูกนำไปประมูลควรจะเป็นช่วง 2×5 MHz หรือ 2×10 MHz เพราะเป็นขนาดของช่วงความถี่ที่เหมาะสมในเชิงเทคนิคกับการให้บริการดาต้าความเร็วสูง
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เอไอเอส ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่รัฐบาลและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมคืนความสุขให้กับคนไทยทั้งประเทศ ด้วยการจัดสรรประมูล 4G บนคลื่นความถี่
1800 MHz และ 900 MHz ในปี 2558 ที่สำคัญ ยังเป็นการสนับสนุนและตอบรับนโยบายรัฐบาลที่พร้อมก้าวสู่เศรษฐกิจ ดิจิทัล ด้วยมองว่าผลที่จะตามมาจากการประมูลครั้งนี้ ผู้ได้รับประโยชน์คือประเทศและประชาชนคนไทยทุกคน จะเกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่าสากล เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ที่มีมูลค่ามหาศาลจากการขยายการลงทุนสู่ทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดคือ รายได้จากการประมูลการพัฒนา ทั้งยังเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศในการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เทียบเท่าระดับสากล”
“สำหรับ เอไอเอส เราพร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 4G ในครั้งนี้ ซึ่ง เอไอเอส มองว่าประเทศไทยจะเติบโตเทียบเท่านานาอารยประเทศ หากเรา พิจารณา ถึงปริมาณความต้องการใช้ดาต้ามีปริมาณค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันเรามีคลื่นความถี่อยู่ ไม่ว่าจะ เป็นคลื่น 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz ซึ่งสามารถนำออกมาประมูลและใช้ประโยชน์ได้ นั้นหมายความว่า เราจะสามารถนำคลื่นความถี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะเดียวกัน เพื่อสนับสุน Digital Economy เราจำเป็นต้องมี Telecom Infrastructure เพื่อรองรับและสนับสนุนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ Technology & Trend ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ Cloud เป็นการทำงานที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต มีการอัพเกรดตัวเองโดยอัตโนมัติ เว็บหรือเซิร์ฟเวอร์จะทำงานประมวลผลในชั้นนี้ ซึ่งระบบจะแบ่งทรัพยากร CPU, Memory ให้ตามจำนวนที่ใช้งาน และแยกทรัพยากรกับผู้อื่นอย่างชัดเจน พร้อม Firewall ป้องกันระบบของท่านจากผู้ใช้อื่น , Software as a Service (SaaS) คือรูปแบบการให้บริการ ซอฟต์แวร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นการเปิดสิทธิ์ให้ผู้ใช้งานจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ในอนาคตหาก เราต้องการจะทำงานในขณะที่อยู่นอกออฟฟิศหรือบนรถโดยสารก็สามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพียงแค่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้เท่านั้น ส่วนInternet of Things การทำงานส่วนนี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา เพราะจะเป็นการเชื่อมต่อ อุปกรณ์ต่างๆ ออนไลน์สู่มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ เช่น อุปกรณ์ของใช้ในบ้าน เครื่องปรับอากาศ สัญญาณโทรทัศน์ ประตูรีโมท รวมถึงอุปกรณ์สัญญาณกันขโมยในรถยนต์ เป็นต้น ” นายสมชัย กล่าว
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐและและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4G ซึ่งจำเป็นต้องเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ที่เป็นทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการวางแผนและการนำคลื่นความถี่ที่มีทั้งหมดมาจัดสรรใหม่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (Frequency Refarming) นั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้พร้อมเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อีกทั้งโครงข่ายโทรคมนาคมเช่นโมบายล์บรอดแบนด์ ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับสาธารณูปโภครถไฟความเร็วสูงของประเทศ
โดยจะสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ ในการนำไอซีทีมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การประมูลเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งในการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่อาจไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงสำหรับคนไทย เนื่องจากการประมูลจะทำให้มีภาระมากขึ้นในการลงทุนเทคโนโลยีและโครงข่าย ซึ่งสุดท้ายประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับผลกระทบจากค่าบริการที่สูงขึ้น ตลอดจนความล่าช้าในการลงทุนโครงข่ายและเทคโนโลยีใหม่ ทั้งนี้ คลื่นความถี่ทั้งหมดควรจัดสรรเป็นช่วง 5 MHz และ 10 MHz ซึ่งเป็นขนาดของช่วงความถี่ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน”
นายซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “จำนวนผู้ใช้งานดาต้าและจำนวนการใช้งานดาต้าในประเทศไทยจะเติบโตต่อเนื่อง โดยอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟน (smartphone penetration) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 35% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 61% ในปี พ.ศ. 2560 ดังนั้น การใช้งานโมบายล์ดาต้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าในทุกๆ ปีในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าที่เติบโตสูงอย่างรวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปลดล็อกคลื่นความถี่ ทางออกที่เราขอเสนอในวันนี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตรงกับความต้องการใช้งานสำหรับลูกค้า รัฐบาลและสังคมโดยรวม ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในปี พ.ศ. 2558 สำหรับการนำคลื่นความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ตลอดจนถึง การนำย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850MHz และ 900MHz มาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคมอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับภาครัฐที่ต้องการนำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการติดต่อสื่อสารสู่สังคมเมืองและชนบททั่วประเทศ”
“ดีแทคแสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างระบบ “เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภารกิจหลักของรัฐบาล คือ การปลดล็อคศักยภาพทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมความสามารถในการเข้าถึง (Access) เชื่อมต่อ (Connectivity) และทำให้การบริการหรือข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล (Digitization) กระตุ้นให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรม มีพลวัตเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยสมควรกำหนดเป้าหมายให้คนไทยร้อยละ 80 มีการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน (Active Internet Users) ภายในปี พ.ศ.2560 นอกจากนี้ และกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่ (Mobile Internet) ที่ทันสมัยในราคาที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคที่ทันสมัยในราคาที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญเช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ ประเทศไทยจะต้องจัดให้มีการบริหารจัดการคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการจัดสรรการใช้งานและการกำหนดการใช้งานคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับคุณลักษณะของแต่คลื่นความถี่อย่างเหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้การเข้าถึงบริการและข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ” นายซิคเว่ กล่าว