นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่กราปฏว่ามีผู้ให้บริการรถรับส่งผู้โดยสารในลักษณะรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ด้วยรถยนต์บริการ (ป้ายเขียว) และรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) โดยอัตราโดยสารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั้น
ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกได้เชิญประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวง ICT , กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมณฑณทหารบกที่ 11 เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาก่อนจะสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้างในอนาคต เช่น ปัญหาเรื่องการใช้บัตรเครดิต ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้บริการ โดยในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า การให้บริการรับส่งผู้โดยสารลักษณะแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์บริการดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จะทะเบียนไว้ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ นอกจากนี้การชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตอาจส่งผลต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคต
นายธีระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุม มีข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งได้บูรณาการตรวจสอบการให้บริการที่ผิดกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา หากตรวจพบกรมการขนส่งทางบกจะเปรียบเทียบปรับสูงสุดทุกราย ได้แก่ ความผิดฐานใช้รถผิดประเภท โทษปรับสูงสุด 2,000 บาท ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด โทษปรับสูงสุด 1,000 บาท และไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะปรับสูงสุด 1,000 บาท
ขณะที่กระทรวง ICT จะเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์รับจ้างมาให้บริการในลักษณะแท็กซี่ ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะเร่งดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการกระทำดังกล่าว ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ขอให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยและอย่างหลงเชื่อการสร้างแรงจูงใจด้วยเหตุผลต่างๆ เนื่องจากหากคำนวณค่าโดยสารแล้วจะพบว่ามีการแฝงค่าใช้จ่ายต่อระยะทางและเวลา Uber Taxi จะมีราคาสูงกว่า และที่สำคัญ อาจไม่ได้รับความปลอดภัยเนื่องจาก รถดังกล่าวไม่เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลในการตรวจสอบรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก
ที่มา – voicetv
http://www.flashfly.net/wp/?p=107493